สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (International Federation of Red Cross and Red Crescent Societies) เปิดเผยว่า ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมในการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ท่ามกลางความพยายามของภูมิภาคในการสกัดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาที่ส่งให้มียอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
แม้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะรอดพ้นจากสถานการณ์เลวร้ายที่สุดเมื่อเกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ในปี 2563 แต่ในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้กลับมียอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุด เนื่องจากอัตราการติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ระบบการรักษาพยาบาลถึงจุดวิกฤต ขณะการฉีดวัคซีนก็เป็นไปอย่างล่าช้า
อเล็กซานเดอร์ มาธีโอ ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของสหพันธ์สภากาชาดฯกล่าวในแถลงการณ์ว่า “การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่พุ่งสูงขึ้นจากสายพันธุ์เดลตา ส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตในครอบครัวเพิ่มขึ้นทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเหตุการณ์นี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลง”
กาชาดตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ส่วนใหญ่ รวมทั้งเวียดนาม ไทย และอินโดนีเซีย มียอดการติดเชื้อหรือการเสียชีวิตจากโควิด-19 ที่สูงเป็นประวัติการณ์
ในขณะเดียวกัน ประเทศต่างๆ เช่น แคนาดา สเปน และสหราชอาณาจักร ได้ฉีดวัคซีนให้กับประชาชนกว่า 60% แล้ว ส่วนสหรัฐก็ฉีดวัคซีนไปเกินครึ่งของจำนวนประชากร แต่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังล่าช้าอยู่มาก โดยอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์มีอัตราการฉีดวัคซีนครบโดสอยู่ที่ 10-11% ส่วนเวียดนามอยู่ที่ต่ำกว่า 2% เท่านั้น
“ในระยะสั้น เราต้องการให้ประเทศที่ร่ำรวยพยายามมากขึ้นในการแบ่งปันวัคซีนจำนวนกว่าล้านโดสกับประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเร่งด่วน” มาธีโอกล่าว พร้อมเสริมว่า บริษัทวัคซีนและรัฐบาลจำเป็นต้องแบ่งปันเทคโนโลยีและส่งเสริมการผลิตด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ส.ค. 64)
Tags: วัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, สภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ, สหพันธ์สภากาชาด, อาเซียน, อเล็กซานเดอร์ มาธีโอ