พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กล่าวถึงกรณีการเรียกค่าไถ่ข้อมูล (Ransomware) ว่า ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับโลกอย่างมากมาย แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ทำให้เกิดอาชญากรรมรูปแบบใหม่ขึ้นมา และหนึ่งในอาชญากรรมที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลก คือ การเรียกค่าไถ่ข้อมูล ซึ่งไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป
ตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดเมื่อต้นเดือน ก.ค.64 มีข้อมูลจากสื่อต่างประเทศระบุว่า บริษัทไอทีหลายร้อยแห่งในสหรัฐอเมริกาถูกกลุ่มแฮกเกอร์จากรัสเซียเข้าโจมตีและมีการเรียกค่าไถ่ข้อมูลกว่า 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และโดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่หลายคนต้องทำงานผ่านคอมพิวเตอร์และสื่อออนไลน์ รวมถึงบริษัทต่างๆ ต้องมีการป้องกันและพร้อมรับมือกับอาชญากรรมรูปแบบดังกล่าว ไม่เช่นนั้นอาจจะตกเป็นเหยื่อได้โดยง่าย
รูปแบบของการเรียกค่าไถ่ข้อมูล จะแฝงตัวมาในรูปแบบของอีเมลล์ที่แนบลิงค์มาด้วย หรือลิงค์ที่แอบแฝงอยู่ในโฆษณาบนเว็บไซต์ต่างๆ เมื่อเหยื่อกดเข้าไปที่ลิงค์ดังกล่าว ก็จะเป็นการรับเอามัลแวร์เข้ามาในเครื่องคอมพิวเตอร์โดยไม่รู้ตัว จากนั้นมัลแวร์ก็จะแพร่กระจายไปยังข้อมูลต่างๆ เมื่อมัลแวร์ได้แพร่กระจายไปครอบคลุมข้อมูลที่บรรดาแฮกเกอร์ต้องการแล้ว ก็จะล็อคข้อมูลดังกล่าว ไม่ให้ผู้ใช้งานเข้าถึงข้อมูลได้ และจะปรากฎข้อความขึ้นมาแจ้งว่าข้อมูลเหล่านี้ได้ถูกล็อคไว้ หากต้องการปลดล็อคจะต้องจ่ายเงิน ไม่เช่นนั้นจะลบข้อมูล แต่ในช่วงหลัง เริ่มมีการข่มขู่ว่าจะปล่อยข้อมูลสู่สาธารณะ หรือนำไปประมูลขาย เป็นต้น
สำหรับผู้ที่กระทำลักษณะดังกล่าว อาจจะเข้าข่ายความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง หรือของผู้อื่น มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดฐานเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะ และมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มีนโยบายให้ทุกหน่วยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้เป็นหน่วยงานหลักในการเฝ้าระวัง สืบสวนปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญกรรมทางเทคโนโลยีอย่างจริงจังต่อเนื่อง และเร่งสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนให้ทราบถึงพิษภัยและรูปแบบการกระทำความผิดต่างๆ และเร่งทำการสืบสวนปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อเป็นการจำกัดความเสียหาย, ตัดโอกาสในการกระทำความผิดที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
รองโฆษก ตร.กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอฝากประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชนถึงแนวทางการป้องกันการถูกเรียกค่าไถ่ข้อมูล โดยต้องสำรองข้อมูลที่สำคัญอยู่เสมอ และเลือกใช้โปรแกรมป้องกันไวรัสที่มีคุณภาพ หมั่นตรวจสอบและอัพเดทซอฟต์แวร์ รวมถึงอัพเดทระบบปฏิบัติการและแอปพลิเคชันต่างๆ ด้วย และควรหลีกเลี่ยงการกดลิงก์ หรือไฟล์ที่แนบมากับอีเมลล์ที่ไม่รู้จัก หรือลิงก์น่าที่สงสัยต่างๆ นอกจากนี้ หากพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งไปยัง Call Center ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.ค. 64)
Tags: ransomware, กฤษณะ พัฒนเจริญ, สตช., สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สื่อออนไลน์, สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข, ไซเบอร์