กทม.ตั้งเป้าฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ ครบ 6.8 แสนโดสภายในสิ้นเดือนก.ค.นี้

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร ได้รับการจัดสรรวัคซีน Astrazeneca รวมจำนวนทั้งสิ้น 680,000 โดส ได้ฉีดให้แก่ประชาชนผ่านโครงการไทยร่วมใจ ณ จุดฉีดวัคซีนนอกรพ. โดยความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครและหอการค้าไทย ทั้ง 25 แห่ง ในเดือนมิ.ย.64 จำนวน 200,000 โดส และในเดือนก.ค.64 ได้ฉีดให้แก่ผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์ รวมทั้งผู้ที่ลงทะเบียนผ่านโครงการไทยร่วมใจและได้รับแจ้งให้เลื่อนคิว รวมจำนวน 480,000 โดส ซึ่งคาดว่าจะให้บริการวัคซีนได้ครบภายในสิ้นเดือนก.ค.นี้

ปัจจุบัน กรุงเทพมหานครยังคงให้บริการวัคซีนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ภาพรวมการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ซึ่งเป็นการฉีดโดยหลายหน่วยงาน อาทิ จุดฉีดสถานีกลางบางซื่อโดยกระทรวงสาธารณสุข จุดฉีดศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง โดยกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งได้ร่วมกันจัดหน่วยฉีดให้บริการประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมจำนวนสะสม 5,668,720 โดส แบ่งผู้ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม แล้ว จำนวน 1,025,493 ราย (2,050,986 โดส) และผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 3,617,734 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ก.ค.64)

สำหรับการให้บริการวัคซีน ณ จุดบริการฉีดวัคซีนนอก รพ. “หน่วยความร่วมมือบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 กรุงเทพมหานคร – หอการค้าไทย” ในขณะนี้ได้ให้บริการวัคซีนแก่ประชาชน 3 กลุ่ม ประกอบด้วย

1.กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่ลงทะเบียนผ่านโครงการ “ไทยร่วมใจ” ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง หรือเว็บไซต์ www.ไทยร่วมใจ.com หรือร้านค้าสะดวกซื้อ ได้แก่ เซเว่น อีเลฟเว่น, แฟมิลี่มาร์ท, ท็อปส์ เดลี่ และมินิบิ๊กซี ทั้งนี้รวมถึงผู้ที่เคยลงทะเบียนแล้ว และผู้ที่ลงทะเบียนใหม่

2.กลุ่มผู้ที่ตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป สามารถ Walk-in เข้ารับวัคซีนได้ที่ศูนย์ฉีด โดยแสดงหลักฐานใบฝากครรภ์หรือใบรับรองการตั้งครรภ์จากแพทย์ พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนมาแสดง

3.กลุ่มผู้ที่มีอายุ 18 – 59 ปี ที่มีคิวฉีดวัคซีนเดิมซึ่งได้ลงทะเบียนไว้เมื่อวันที่ 26 – 30 มิ.ย.64 โดยคิวเดิมวันที่ 30 มิ.ย. สามารถมารับบริการได้ในวันที่ 30 ก.ค. ในส่วนของผู้ที่มีคิวนัดกับโครงการไทยร่วมใจตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.64 เป็นต้นไป จะแจ้งคิวฉีดวัคซีนใหม่ให้ทราบทันที เมื่อกรุงเทพมหานครได้รับการจัดสรรวัคซีนเพิ่มเติม

ผู้ว่ากทม. ระบุว่า สถานการณ์การการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) สำนักการแพทย์ กทม. (28 ก.ค.64 เวลา 23.59 น.) พื้นที่กรุงเทพมหานครมีจำนวนผู้ป่วยซึ่งยังคงรักษาตัว ณ โรงพยาบาลทุกสังกัด ทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 26,969 ราย โดยเป็นผู้ป่วยโควิดซึ่งยังคงพักรักษาตัว ณ โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร รวมทั้งโรงพยาบาลสนาม และ Hospitel ในความดูแลของสำนักการแพทย์ รวมจำนวนทั้งสิ้น 3,587 ราย โดย 146 ราย มีอาการรุนแรง

สำหรับจำนวนเตียงโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร รวมทั้งโรงพยาบาลสนามและ Hospitel ในความดูแลของสำนักการแพทย์ จำนวนทั้งสิ้น 3,632 เตียง ใช้ไปแล้ว 3,597 เตียง คิดเป็น 98.76% ศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ เปิดให้บริการแล้ว จำนวน 26 ศูนย์ จำนวนเตียงที่สามารถรองรับผู้ป่วย ได้ 3,499 เตียง ขณะนี้ใช้ไปแล้ว 2,439 เตียง ทั้งนี้ ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ ฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขตอยู่ระหว่างการนำส่งผู้ป่วยเพื่อเข้าสู่สถานพยาบาลและศูนย์พักคอย เพื่อส่งต่อทุกแห่งให้ครบเต็มจำนวน

อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการผู้ป่วยในศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ สำนักการแพทย์ กทม. ได้ดำเนินการคัดแยกกลุ่มผู้ป่วยที่มีผลเป็นบวกจากชุดตรวจ ATK แยกกักตัวกับกลุ่มผู้ป่วยที่ทำการตรวจด้วย RT-PCR โดยจะทำการตรวจ RT-PCR ซ้ำ เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงหากผลบวกจากชุดตรวจ ATK เป็นผลบวกที่คลาดเคลื่อน เพื่อให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยสูงสุด

สำหรับจำนวนผู้ที่อยู่ระหว่างการแยกกักตัวที่บ้าน Home Isolation ทางสำนักอนามัย ได้สรุปข้อมูล ณ วันที่ 29 ก.ค.64 มีจำนวนทั้งสิ้น 2,364 ราย โดยเขตที่มีผู้ได้รับการแยกกักตัวที่บ้านสูงสุดตามลำดับ คือ เขตธนบุรี (208 ราย) บางซื่อ และบางกอกใหญ่ (เขตละ 130 ราย) ทุ่งครุ (120 ราย) และสายไหม (99 ราย)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ก.ค. 64)

Tags: , , , ,