กทม. วางแนวทางคุมโควิดระบาดในคลัสเตอร์โบ๊เบ๊ โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว

นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ได้ร่วมประชุมหารือติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และกลุ่มกรุงเทพกลาง ซึ่งสืบเนื่องจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในลักษณะกลุ่มก้อน (Cluster) เกิดขึ้นในย่านโบ๊เบ๊ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย พบว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติที่เป็นลูกจ้าง ซึ่งมีการอยู่อาศัยอย่างแออัด และมีโอกาสนำเชื้อมาติดนายจ้างหรือผู้ร่วมงานชาวไทย

โดยที่ผ่านมามีข้อจำกัดในการสื่อสาร และการเข้าถึงการตรวจและรักษาพยาบาลต่าง ๆ ที่ประชุมจึงได้หาแนวทางร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอสนับสนุนการตรวจหาเชื้อในชาวต่างชาติโดยไม่จำกัดสิทธิในการรักษา ขอสนับสนุนการรักษาพยาบาลหรือขอให้มีโรงพยาบาลสนามสำหรับชาวต่างชาติ ขอให้พิจารณาสนับสนุนวัคซีนสำหรับพื้นที่แพร่ระบาด เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ สร้างความปลอดภัยทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ และเพื่อให้การค้าต่าง ๆ สามารถดำเนินการต่อไปได้

สำหรับแนวทางในการควบคุม Cluster ย่านโบ๊เบ๊ ที่ประชุมให้ผู้เกี่ยวข้อง เร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการและผู้ค้ารับทราบแนวปฏิบัติต่าง ๆ ตามมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของตลาด ตลาดนัด ตลาดสด ที่กรุงเทพมหานครกำหนด โดยในส่วนของการจัดทำทะเบียนผู้ค้า ให้เพิ่มเติมข้อมูลผลการตรวจหาเชื้อในทางเดินหายใจ (PCR) ครั้งล่าสุด และวันที่ตรวจ พร้อมทั้งจัดทำบัตรประจำตัวสำหรับผ่านเข้าออกพื้นที่ให้แก่ผู้ค้า ทั้งในส่วนของเจ้าของแผงค้า และลูกจ้างแผงค้าที่มีผลตรวจเป็นลบ

สำหรับผู้ที่ยังไม่มีผลตรวจ PCR ให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตรวจ PCR ให้เจ้าของแผงค้า ลูกจ้างทั้งชาวไทยและต่างด้าว ประการสำคัญให้ประสานความร่วมมือกับฝ่ายความมั่นคง และผู้ประกอบการในการตรวจสอบบัตรผ่านเข้า-ออกของผู้ให้บริการประจำแผงค้า รวมทั้งตรวจคัดกรองผู้ใช้บริการหรือผู้ที่ต้องการเข้าไปซื้อสินค้าด้วย ทั้งนี้ หากร้านค้าหรือแผงค้าใดมีผู้ติดเชื้อให้ปิดกิจการ 14 วัน และกักผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและปฏิบัติตามขั้นตอนกระบวนการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดที่หน่วยงานราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด

ในส่วนชุมชนรอบโดยรอบ ให้สำรวจหอพัก หรือบ้านเช่าที่มีสภาพเสี่ยงต่อการแพร่โรค เช่น มีผู้พักอาศัยจำนวนมาก มีการใช้ห้องน้ำรวม เป็นต้น ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปให้ความรู้เกี่ยวกับโรคโควด-19 รวมถึงการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาด ทั้งนี้หากเป็นที่พักอาศัยของผู้ทำงานส่วนใหญ่ในย่านตลาดโบ๊เบ๊ อาจนำมาตรการ Bubble and Seal มาปรับใช้ โดยจะต้องมีการทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการและผู้อยู่อาศัยก่อนการ Seal อย่างไรก็ดี หากที่พักดังกล่าวมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอาศัยร่วมอยู่ด้วย และไม่สามารถแยกกักได้ อาจจำเป็นต้อง Local Quarantine (LQ) เพิ่มเติม เพื่อแยกกักกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว

นายชาตรี กล่าวว่า ที่ประชุมได้ให้การสนับสนุนล่าม จากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) โดยให้สำนักงานเขตประสานผ่านกองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย พร้อมให้สำนักงานเขตสำรวจผู้ประกอบการหรือลูกจ้าง โดยให้จัดทำรายชื่อแรงงานต่างชาติอย่างเป็นระบบ ทั้งในอาคารโบ๊เบ๊ทาวเวอร์ ตลาดผลไม้ และแผงลอยบริเวณโดยรอบ เพื่อเตรียมการเข้าตรวจเชิงรุกเพิ่มเติม นอกจากนี้ ให้มีการลงพื้นที่ให้คำแนะนำด้านสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมให้แก่ผู้ประกอบการต่าง ๆ ให้ดำเนินกิจการต่าง ๆ ภายใต้มาตรการทางสาธารณสุข เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดแก่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 มิ.ย. 64)

Tags: , , , , , , , , , , , , ,