กอนช.นัดถกมาตรการรับมือน้ำหลากพร้อมหาแนวทางเก็บน้ำไว้ใช้ช่วงหน้าแล้ง

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้ (6 ต.ค.64) กอนช.จะมีการประชุมคณะทำงานด้านอำนวยการ ครั้งที่ 2/2564 ร่วมกับหน่วยงานภายใต้ กอนช. ประกอบด้วย กรมอุตุนิยมวิทยา สสน. จิสด้า กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น เพื่อร่วมประเมินและบริหารจัดการสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ป่าสัก และลุ่มน้ำชี-มูล

นอกจากนี้จะร่วมกันวางแผนนำน้ำที่ไหลหลากในทุ่งรับน้ำต่างๆ รวมถึงมวลน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำในปัจจุบันมาบริหารจัดการสำหรับฤดูแล้งหน้า ทั้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำมูล-ชี ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งมาตรการในเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการรับน้ำในช่วงฤดูฝนนี้สามารถทำนาปรังหรือพืชใช้น้ำน้อย โดยจะหรือร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทานและกรมส่งเสริมการเกษตรให้มีความชัดเจนร่วมกัน ก่อนเสนอเป็นมาตรการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 2564/2565 โดยเร็วต่อไป ที่สำคัญจะมีการติดตามสถานการณ์และการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์พายุที่กำลังจะเข้าสู่พื้นที่ภาคใต้ด้วย

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช.กำชับให้ สทนช. วิเคราะห์และประเมินภาพรวมในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังออกให้เร็วที่สุด โดยพิจารณาพื้นที่เร่งระบายน้ำ พื้นที่รับน้ำ ควบคู่ไปกับการวิเคราะห์และคาดการณ์สภาพอากาศปัจจุบัน รวมทั้งแนวโน้มของอิทธิพลพายุและสภาพอากาศในอนาคตด้วย

ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำในทางพื้นที่ภาคเหนือเริ่มลดลง จึงได้มีการลดการระบายน้ำในพื้นที่ตอนล่าง เพื่อให้สถานการณ์และผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนคลี่คลายโดยเร็วที่สุด

สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ลุ่มน้ำป่าสัก ปริมาณน้ำหลากจากตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 2,775-2,800 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที และปริมาณน้ำหลากสูงสุดจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ได้ไหลผ่านเขื่อนพระรามหกสูงสุดในอัตรา 762 ลบ.ม.ต่อวินาที

และในวันนี้ ปริมาณน้ำจะไหลหลากรวมกันผ่าน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ในเกณฑ์สูงสุด 3,050-3,150 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยจะไหลออกสู่อ่าวไทยในช่วงวันที่ 8-10 ต.ค.64 แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวเกิดสภาวะน้ำทะเลหนุนสูง คาดว่าจะส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม 30-50 ซม. บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จ.ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร

โดยระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบให้ระดับน้ำล้นคันป้องกันน้ำริมแม่น้ำของกรุงเทพมหานคร ยกเว้นบริเวณที่ไม่มีระบบคันป้องกันริมแม่น้ำรับน้ำ ซึ่ง กอนช. มอบหมายกรมชลประทานบริหารจัดการน้ำเข้าทุ่งให้เต็มศักยภาพ โดยเร่งระบายน้ำ สูบน้ำ บริเวณรอยต่อของแม่น้ำบางปะกงและอ่าวไทย ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้ประสานกองทัพเรือ สนับสนุนเรือผลักดันน้ำและเครื่องผลักดันน้ำเพื่อเร่งผลักดันน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่อ่าวไทยโดยเร็ว เพื่อลดผลกระทบจากน้ำทะเลหนุนสูงและชุมชนริมแม่น้ำ

ขณะเดียวกัน ยังได้ประเมินสถานการณ์ฝนบริเวณลุ่มน้ำป่าสักที่มีแนวโน้มลดลง โดยปริมาณน้ำไหลออกมากกว่าน้ำไหลเข้า โดยให้กรมชลประทานพิจารณาปรับลดการระบายน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จาก 1,133 ลบ.ม.ต่อวินาที ให้เหลือประมาณ 800 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อให้สถานการณ์น้ำท่วมลดระดับลงและกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า ความคืบหน้าการใช้ทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับการระบายน้ำนั้น ปัจจุบันลุ่มน้ำยม-น่าน ได้ผันน้ำเข้าทุ่งบางระกำ จำนวน 400 ล้าน ลบ.ม. เพื่อตัดยอดน้ำหลากลดผลกระทบความรุนแรงอุทกภัยปัจจุบันสถานการณ์น้ำกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ส่วนทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำ 10 ทุ่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันรับน้ำแล้วรวม 978 ล้าน ลบ.ม. (67%) โดยมีทุ่งที่ยังรับน้ำน้อยกว่า 50% จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ทุ่งเชียงราก (26%) และทุ่งเจ้าเจ็ด (13%) นอกจากจะเป็นการระบายน้ำแล้ว ยังเป็นการเตรียมแปลงสำหรับการเพาะปลูกพืชน้ำน้อยในช่วงแล้งได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังได้ให้เร่งตรวจสอบความมั่นคงตลิ่งโดยรอบ หากกรณีแช่น้ำนานกว่า 10 วัน เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นผิวการสัญจรของประชาชน

สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชี–มูล มวลน้ำจากลุ่มน้ำชีตอนบน จ.ชัยภูมิ ได้เคลื่อนตัวมาถึงเขื่อนชนบท อ.ชนบท จ.ขอนแก่น และเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำชี ประกอบกับระดับน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์สูงเกินเกณฑ์ระดับน้ำควบคุมสูงสุด จึงมีความจำเป็นต้องระบายน้ำลงน้ำพองและแม่น้ำชี ตามลำดับ โดยปริมาณน้ำดังกล่าวจะทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งบริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำสูง 1.50-2.00 ม. บริเวณ จ.ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร และศรีสะเกษ ในช่วงวันที่ 4-5 ต.ค.64 กอนช.ได้ออกประกาศแจ้งเตือนไปเมื่อวันที่ 3 ต.ค.64 ที่ผ่านมา เพื่อให้หน่วยงานเตรียมความพร้อมรับมือและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์และเตรียมยกสิ่งของขึ้นที่สูง และเตรียมอพยพออกจากพื้นที่เสี่ยง

ส่วนแม่น้ำมูลมวลน้ำจาก จ.นครราชสีมา ได้เคลื่อนตัวมาผ่าน จ.ศรีสะเกษ แล้ว และมวลน้ำสูงสุดกำลังเคลื่อนผ่าน จ.อุบลราชธานี สูงสุด 2,576 ลบ.ม.ต่อวินาที เมื่อวันที่ 3 ต.ค.64 ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 0.46 ม. หลังจากนั้นอีก 10-15 วัน มวลน้ำจากลำน้ำชีจะไหลลงสู่ลำน้ำมูล

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ต.ค. 64)

Tags: , , , ,