ก้าวไกล ชี้รัฐบาลแก้ปัญหาโควิดผิดพลาด ส่งผลให้เศรษฐกิจฟุบยาวถึงปี 2570

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า ความผิดพลาดในการแก้ปัญหาสถานการณ์โควิด-19 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ โดยสถาบันเศรษฐกิจในต่างประเทศประเมินว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยจะฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติในปี 2570 ซึ่งช้าที่สุดในจำนวน 120 ประเทศ ผลกระทบที่เห็นชัดเจนคือ การว่างงานที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ขณะที่รายได้ครัวเรือนในช่วงปี 63-65 จะหดหายไปราว 2.6 ล้านล้านบาท ซึ่งกลายเป็นหุบเหวรายได้ที่กว้างและลึกมากขึ้น

แม้ระบบเศรษฐกิจของประเทศจะขยายตัวจากการส่งออกที่เติบโตขึ้น แต่การเติบโตอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ อีกทั้งรายได้จากการส่งออกดังกล่าว จะกระจุกตัวเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีอัตราการจ้างงานต่ำ และมาตรการ Buble and Seal ที่นำมาใช้ในสถานประกอบการก็เหมือนแรงงานเหล่านั้นไม่ใช่มนุษย์ แม้จะติดเชื้อโควิด-19 แต่ก็ต้องทำงานต่อไป สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศที่ตกต่ำในขณะนี้ ส่งผลให้นักลงทุนหนีไปลงทุนในต่างประเทศกันเป็นจำนวนมาก

ขณะที่การใช้เงินกู้เพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 จำนวน 1.5 ล้านล้านบาท เป็นไปอย่างไร้ยุทธศาสตร์ ถูกละเลงใช้แก้ปัญหาอย่างไม่ต้องจุด เพราะรัฐบาลเอาไปใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ที่ไม่ได้รับความสนใจ โครงการคนละครึ่ง ที่เหมือนมาตรการเยียวยา ขณะที่ไม่มีการจัดเตรียมความพร้อมเรื่องศูนย์พักคอยให้เพียงพอ จนทำให้มีคนป่วยต้องรออยู่ที่บ้านจนเสียชีวิต ซึ่งหากมีการสำรวจกันจริงๆ เชื่อว่าจะมีคนที่เสียชีวิตโดยไม่ได้รับการตรวจหาเชื้อนับร้อยราย

“มาตรการล็อคดาวน์ และเยียวยาที่รัฐบาลใช้ไม่ได้สัดส่วน สถานการณ์ระลอกแรกไม่รุนแรง แต่ล็อคดาวน์ยาวนาน และเยียวยามาก แต่สถานการณ์ระลอกนี้รุนแรง แต่ล็อคดาวน์น้อยและเยียวยาน้อย กิจการที่ได้รับการเยียวยา ก็เลือกจิ้มเอาเฉพาะบางอย่าง”

น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ในปีนี้ไม่มีการเปิดเผยรายงานเรื่องการคลังเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่าอาจเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาเรื่องสภาพคล่องการคลัง เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ไม่แน่นอน ซึ่งอาจต้องนำเงินคงคลังออกมาใช้ ทำให้เงินคงคลังลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี ใกล้กับช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

ภาคเอกชนมีข้อเสนอให้รัฐบาลกู้เงินเพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 เพิ่มเติม แต่รัฐบาลยังไม่ตัดสินใจ เพราะกลัวถูกโจมตีทางการเมือง หรือขาดความเชื่อมั่นแล้ว เพราะมีความจำเป็นที่ต้องใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจในจำนวนที่มากพอ เพื่อช่วยพยุงให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบยังประทังชีวิตต่อไปได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ส.ค. 64)

Tags: , ,