ก.ล.ต. ลงโทษผู้แนะนำการลงทุนกรณีแสวงหาประโยชน์จากผู้ลงทุน

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต. สั่งพักการให้ความเห็นชอบเป็นผู้แนะนำการลงทุนและผู้วางแผนการลงทุนนางสาวฤทัยรัตน์ กลิ่นทอง เป็นเวลา 10 เดือน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.64 กรณีแสวงหาประโยชน์จากผู้ลงทุนและไม่ได้ให้ข้อมูลหรือคำแนะนำที่เหมาะสม ขณะกระทำผิดสังกัด บลจ.เอ็มเอฟซี (MFC)

ทั้งนี้ก.ล.ต.ได้รับเรื่องร้องเรียนและตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า นางสาวฤทัยรัตน์ เป็นตัวกลางในการเสนอขายหุ้นกู้ของบริษัทต่างประเทศ ซึ่งหุ้นกู้ดังกล่าวมิได้เสนอขายผ่าน บลจ.เอ็มเอฟซี (MFC) ที่สังกัดและนางสาวฤทัยรัตน์ ให้การว่ากระทำไปในนามส่วนตัว

จากข้อเท็จจริงพิจารณาได้ว่านางสาวฤทัยรัตน์ มีพฤติกรรมแสวงหาประโยชน์จากผู้ลงทุนโดยอาศัยโอกาสในการปฏิบัติงานจากการเป็นผู้ประสานงานระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายหุ้นกู้ โดยได้รับประโยชน์เป็นค่าตอบแทนจากผู้ขายหุ้นกู้ จำนวน 3 ล้านบาท และไม่ได้ให้ข้อมูลหรือคำแนะนำที่เหมาะสม (suitability) แก่ผู้ลงทุนอย่างครบถ้วน ถูกต้อง รวมถึงไม่ได้แจ้งข้อมูลหรือคำเตือนต่าง ๆ อันเป็นสาระสำคัญที่อาจมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ลงทุน ซึ่งต่อมาภายหลัง เมื่อผู้ซื้อหุ้นกู้ไม่ได้รับดอกเบี้ยจากหุ้นกู้ตามที่กำหนด นางสาวฤทัยรัตน์ได้ติดต่อไปยังผู้ออกหุ้นกู้ (issuer) ทำให้ทราบว่าบริษัทดังกล่าวมิได้มีการออกเสนอขายหุ้นกู้แต่อย่างใด ซึ่งแสดงให้เห็นว่า นางสาวฤทัยรัตน์ ในฐานะผู้แนะนำการลงทุนไม่ได้ทำหน้าที่ในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพอย่างเพียงพอ โดยหากนางสาวฤทัยรัตน์ ตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวก่อนให้คำแนะนำอาจจะไม่เกิดความเสียหายแก่ลูกค้า

การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือให้บริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือให้บริการด้วยด้วยความรับผิดชอบและรอบคอบเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ก.ล.ต. จึงพักการให้ความเห็นชอบการเป็นผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 2 และผู้วางแผนการลงทุนของนางสาวฤทัยรัตน์เป็นเวลา 10 เดือน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.64 แต่เนื่องจากระยะเวลาการให้ความเห็นชอบเป็นผู้แนะนำการลงทุนตราสารซับซ้อนประเภท 2 ของนางสาวฤทัยรัตน์สิ้นสุดไปแล้วเมื่อวันที่ 31 มี.ค.64 ก.ล.ต. จึงกำหนดระยะเวลาในการรับพิจารณาคำขอความเห็นชอบเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุนในคราวต่อไปจากวันที่ 1 มิ.ย.64 จนครบกำหนด 10 เดือน

พร้อมกันนี้ในการพิจารณากำหนดโทษ ก.ล.ต. ได้นำปัจจัยดังต่อไปนี้มาใช้ประกอบการพิจารณาด้วย ได้แก่ บทบาทความเกี่ยวข้องและพฤติกรรมของบุคคลที่ถูกพิจารณา การลงโทษที่บุคคลนั้นได้รับไปแล้ว ผลกระทบความเสียหายหรือผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น การแก้ไขหรือการดำเนินการอื่นที่เป็นประโยชน์หรือขัดขวางการปฏิบัติงานของ ก.ล.ต. และประวัติหรือพฤติกรรมในอดีตอื่นใดที่แสดงถึงความไม่เหมาะสมที่จะเป็นบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 พ.ค. 64)

Tags: , , , , , , , ,