ก.เกษตรฯ-พาณิชย์ เดินหน้าธนาคารสีเขียว ใช้ไม้ยืนต้นค้ำประกัน เพิ่มสินเชื่อช่องทางใหม่

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายเกษตรกรรมยั่งยืน (Sustainable Agriculture) เปิดเผยว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรฯ ประสานความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์และทุกภาคีภาคส่วนในการขับเคลื่อนโครงการธนาคารสีเขียว (Green Bank) ภายใต้นโยบายเกษตรกรรมยั่งยืนบนแนวทางศาสตร์พระราชาและโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อต่อยอดขยายผลนโยบายของรัฐบาลภายใต้วิกฤตโควิด-19 ในการสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับประชาชนและประเทศชาติและเป็นการสร้างแรงจูงใจในการปลูกไม้เศรษฐกิจตามแนวทางเกษตรกรรมยั่งยืน

โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการ 6 ประการ ได้แก่ 1. เพื่อเพิ่มสินเชื่อช่องทางใหม่ โดยใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน 2. เพื่อเพิ่มทรัพย์สิน รายได้ อาชีพและธุรกิจใหม่ๆให้กับประชาชน 3. เพื่อลดปัญหาหนี้นอกระบบ 4. เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งในเมืองและนอกเมือง เพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ชุมชนและเมือง แก้ปัญหา PM 2.5 5. เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน (Global Warming) และเพิ่มคาร์บอนเครดิตของประเทศ และ 6. เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDG) และยุทธศาสตร์ชาติรวมทั้งแผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม การเกษตรและเศรษฐกิจ

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า จากข้อมูลหลักประกันทางธุรกิจ กระทรวงพาณิชย์ (ณ วันที่ 5 ก.ค.64) รายงานว่า ตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน มีผู้ขอนำไม้ยืนต้นมาจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว 87 สัญญา จำนวน 119,498 ต้น วงเงิน 134.37 ล้านบาท แบ่งเป็น กลุ่มให้สินเชื่อรายย่อย (พิโกไฟแนนซ์ ปล่อยสินเชื่อวงเงิน 50,000 – 100,000 บาท) 80 สัญญา คิดเป็น 92% ของสัญญารวมวงเงินค้ำประกัน 4 ล้านบาท กลุ่มสถาบันการเงิน (ธนาคารกรุงไทย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 7 สัญญา คิดเป็น 8% ของสัญญา รวมวงเงินค้ำประกัน 130 ล้านบาท ซึ่งแสดงว่าระบบการให้สินเชื่อโดยสถาบันการเงินได้ทำงานแล้ว และมีโอกาสในการขยายสินเชื่อโดยใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้อีกมาก เพราะที่ผ่านมายังดำเนินการได้ไม่มากนัก

ทั้งนี้ รมว.เกษตรฯ มองเห็นโอกาสที่จะต่อยอดขยายผลให้เร่งขับเคลื่อน จึงให้กระทรวงเกษตรฯ เป็นแกนกลางในการเร่งส่งเสริมปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจบนที่ดินตนเอง สร้างหลักประกัน ให้กับครอบครัว และความมั่นคงในอนาคตควบคู่ไปกับการใช้ไม้ยืนต้นเป็นทรัพย์สิน และเป็นหลักประกันสินเชื่อในการเข้าถึงแหล่งเงินทั้งรายย่อยและรายใหญ่ โดยเกษตรกร ประชาชนและผู้ประกอบการจะได้รับวงเงินสินเชื่อรายย่อย 50,000-100,000 บาท/ราย และวงเงินสินเชื่อรายใหญ่จากสถาบันการเงินเช่นธนาคาร เป็นต้น

โดยในวันพรุ่งนี้ (15 ก.ค.) จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อขับเคลื่อนโครงการธนาคารสีเขียวทันที

ปัจจุบัน รัฐบาลได้แก้ไขกฎหมายป่าไม้ มาตรา7 โดยยกเลิกไม้หวงห้ามบนที่ดินกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน สามารถปลูกและตัดไม้เศรษฐกิจได้เหมือนการปลูกพืชเกษตรทั่วไป ทำให้เป็นโอกาสของประชาชน โดยมีไม้เศรษฐกิจทั้งกลุ่มผลไม้ กลุ่มสมุนไพร กลุ่มยาง ไม้ตระกูลกลุ่มไผ่ และไม้ยืนต้นอื่นๆ เช่น 1.สัก2.พะยูง 3.ชิงชัน 4.กระซิก 5.กระพี้เขาควาย 6.สาธร 7.แดง 8.ประดู่ป่า 9.ประดู่บ้าน 10.มะค่าโมง 11.มะค่าแต้ 12.เคี่ยม 13.เคี่ยมคะนอง 14.เต็ง 15.รัง 16.พะยอม 17.ตะเคียนทอง 18.ตะเคียนหิน 19.ตะเคียนชันตาแมว 20. ไม้สกุลยาง 21.สะเดา 22.สะเดาเทียม 23.ตะกู 24.ยมหิน 25.ยมหอม 26. นางพญาเสือโคร่ง 27.นนทรี 28.สัตบรรณ 29.ตีนเป็ดทะเล30.พฤกษ์

31.ปีบ 32.ตะแบกนา 33.เสลา 34.อินทนิลน้ำ 35.ตะแบกเลือด 36.นากบุด 37.ไม้สกุลจำปี 38.แคนา 39.กัลปพฤกษ์ 40.ราชพฤกษ์ 41.สุพรรณิการ์ 42.เหลืองปรีดียาธร 43.มะหาด 44.มะขามป้อม 45.หว้า 46.จามจุรี 47.พลับพลา 48.กันเกรา 49.กระทังใบใหญ่ 50.หลุมพอ 51.กฤษณา 52.ไม้หอม 53.เทพทาโร 54.ฝาง 55.ไผ่ทุกชนิด 56.ไม้สกุลมะม่วง 57.ไม้สกุลทุเรียน 58.มะขาม ฯลฯ สามารถนำไม้ยืนต้นมาใช้ เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ รวมถึงการส่งออกไปขายในตลาดต่างประเทศ ตลอดจนพัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานไม้มีค่าทางเศรษฐกิจที่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.ค. 64)

Tags: , , ,