ครม.เคาะมาตรการเยียวยาเพิ่มเติม 10 จังหวัด, ลดค่าน้ำค่าไฟ 2 เดือนทั่วประเทศ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เพิ่มสูงขึ้น จนทำให้ต้องมีการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ที่ต้องปิดสถานที่และกิจการต่างๆ เพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งได้รับรู้ปัญหาของพี่น้องกลุ่มต่างๆ และไม่เคยหยุดคิดที่จะหาแนวทางช่วยเหลือประชาชนมาโดยตลอด

โดยมาตรการล็อกดาวน์ในครั้งนี้ได้สั่งการให้หน่วยงานด้านเศรษฐกิจเสนอมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบให้ได้มากที่สุด ซึ่งได้มีการประชุมไปแล้วเมื่อวานนี้ (12 ก.ค.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ให้การเห็นชอบมาตรการที่นำเสนอในวันนี้

“การเยียวยาในครั้งนี้ แม้ว่าจะต้องใช้งบประมาณพอสมควร แต่ได้พิจารณาอย่างรอบคอบ และมีความจำเป็น เพื่อช่วยให้พี่น้องประชาชนได้ผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้ ผมขอให้พวกเราทุกคนไม่ยอมแพ้ต่อช่วงเวลาที่ยากลำบาก ผมและรัฐบาลจะหาทางช่วยทุกท่านให้ได้มากที่สุด และจะไม่มีวันยอมแพ้ต่อสงครามครั้งนี้ ไม่ลดละเลิกล้มความพยายาม ไม่ว่าจะมีอุปสรรคหรือปัญหาใดๆ และจะสู้จนกว่าเราจะเอาชนะได้”

นายกรัฐมนตรี ระบุผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน กลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากข้อกำหนดฉบับที่ 27 เพื่อลดผลกระทบในระยะสั้นสำหรับกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการทั้งในและนอกระบบประกันสังคม โดยมีกรอบวงเงินสำหรับมาตรการช่วยเหลือกลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการ จำนวน 30,000 ล้านบาท และเป็นการทดแทนมาตรการช่วยเหลือตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.64 ระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือ 1 เดือน

รายละเอียดดังนี้

1. ขยายพื้นที่ จากเดิม 6 จังหวัด กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร เพิ่มเติม 4 จังหวัด นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงชลา โดยเป็น 10 จังหวัดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด

2. เพิ่มประเภทกิจการรวม 9 สาขา จากเดิม 4 หมวดกิจการ ได้แก่ (1) ก่อสร้าง (2) ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร (3) ศิลปะ บันเทิงและนันทนาการ (4) กิจกรรมบริการด้านอื่นๆ ตามที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด เพิ่ม 5 หมวดกิจกรรม ได้แก่ (5) ขายส่งและการขายปลีก ซ่อมยานยนต์ (6) ขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า (7) กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน (8) กิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ และ (9) ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร

ทั้งนี้ รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ ในระบบประกันสังคม ตามมาตรา 33 สำหรับนายจ้างและผู้ประกอบการ รัฐบาลยังคงจ่ายให้นายจ้างตามจำนวนลูกจ้าง 3,000 บาท/หัว/สถานประกอบการ สูงสุดไม่เกิน 200 คน

ส่วนลูกจ้างจ่ายเพิ่มเป็น 2,500 บาท/คน จากที่ลูกจ้างจะได้รับตามมาตรการช่วยเหลือเดิมเพียง 2,000 บาท/คน ซึ่งเมื่อรวมกับจ่ายชดเชยเยียวยา 50% ของรายได้ให้ลูกจ้าง สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท ระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน ทำให้ผู้ประกันตน ม.33 สัญชาติไทย จะได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐไม่เกิน 10,000 บาท/คน

ทั้งนี้ เพิ่มสิทธิให้ผู้ประกันตน ม.39 และ ม.40 ที่ประกอบอาชีพอยู่ในปัจจุบัน จะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท/คน สำหรับผู้ที่อยู่นอกระบบม.33 อาชีพอิสระ ขอให้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม (ม.40) ภายในเดือน ก.ค. 64 เพื่อจะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท/คน

ส่วนนอกระบบประกันสังคม กลุ่มผู้ประกอบการ/นายจ้าง กรณีมีลูกจ้างให้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม (ม.33) ภายในเดือน ก.ค. 64 เพื่อที่นายจ้างจะได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้าง 3,000 บาท/หัว/สถานประกอบการ สูงสุดไม่เกิน 200 คน ขณะเดียวกันลูกจ้างสัญชาติไทยจะได้รับเงินช่วยเหลือ 2,500 บาท/คน

กรณีที่ไม่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตาม ม.40 ภายในเดือนก.ค. จะได้รับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท/คน ขยายมาตราการช่วยเหลือเดิมให้เฉพาะผู้ประกอบการในหมวดร้านอาหาร เครื่องดื่มในโครงการคนละครึ่งที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม ได้รับการช่วยเหลือ 3,000 บาท เท่านั้น

3.สำหรับผู้ประกอบการในระบบ “ถุงเงิน” โครงการ “คนละครึ่ง” และโครงการ “เราชนะ” มีมติเห็นชอบขยายให้ความช่วยเหลือจากเดิมเฉพาะหมวดร้านอาหารและเครื่องดื่ม เป็น 5 กลุ่ม คือ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ร้าน OTOP ร้านค้าทั่วไป ร้านค่าบริการและกิจการขนส่งสาธารณะ (ไม่รวมกิจการขนาดใหญ่)

กรณีที่มีลูกจ้าง ขอให้ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคมภายในเดือน ก.ค. 64 เพื่อนายจ้างจะได้รับเงินช่วยเหลือตามจำนวนลูกจ้าง 3,000 บาท/คน/สถานประกอบการ สูงสุดไม่เกิน 200 คนและลูกจ้างสัญชาติไทยจะได้รับเงินช่วยเหลือ 2,500 บาท/คน กรณีที่ไม่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนเป็นผู้ประกันสังคม (ม.40) ภายในเดือน ก.ค. 64 เพื่อจะได้รับเงินในอัตรา 5,000 บาทต่อคน

มาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานสำหรับประชาชนทั่วประเทศ

1.ค่าไฟฟ้า ให้มีการลดค่าไฟฟ้าสำหรับบ้านอยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ เฉพาะอย่าง องค์กรไม่แสวงหากำไร และการสูบน้ำเพื่อการเกษตร (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) เป็นเวลา 2 เดือน คือ ก.ค. และ สค. 2564

  • สำหรับบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 90 หน่วยแรก
  • สำหรับบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้คิดดังนี้ 1) หากใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าหรือเท่ากับค่าไฟเดือน ก.พ. 64 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้จริง 2) หากใช้ไฟฟ้ามากกว่าค่าไฟเดือน ก.พ. 64 หากไม่เกิน 500 หน่วย ให้คิดค่าไฟฟ้าเท่ากับหน่วยของเดือน ก.พ. 64 3) หากใช้ 501 – 1,000 หน่วย ให้คิดค่าไฟเท่ากับหน่วยของเดือน ก.พ. 64 บวกด้วยหน่วยที่มากกว่าหน่วยของเดือน ก.พ. 64 ในอัตราร้อยละ 50 4) หากใช้มากกว่า 1,000 หน่วย ให้คิดค่าไฟเท่ากับหน่วยของเดือน ก.พ. 64 บวกด้วยหน่วยที่มากกว่าหน่วยของเดือน ก.พ. 64 ในอัตราร้อยละ 70 ทั้งนี้ให้เป็นส่วนลดก่อนการคิดภาษีมูลค่าเพิ่ม
  • สำหรับกิจการขนาดเล็ก ให้สิทธิใช้ไฟฟ้าฟรี 100 หน่วยแรก
  • สำหรับกิจการขนาดกลาง ขนาดใหญ่ เฉพาะอย่าง องค์กรไม่แสวงหากำไร และการสูบน้ำเพื่อการเกษตร ให้ยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) ไปจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2564

2. ค่าน้ำประปา ลดร้อยละ 10 สำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก ระยะเวลา 2 เดือน (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) เป็นเวลา 2 เดือน คือ ก.ค. และ สค. 2564

โดยรวมทั้งสิ้นภายใต้กรอบวงเงิน 12,000 ล้านบาท

มาตรการให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษา

ครม. เห็นชอบให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หารือกับสถานศึกษาในสังกัดเพื่อกำหนดแนวทางลดค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมต่างๆ ในภาคเรียนที่ 1 /2564 และให้จัดทำโครงการที่รัฐร่วมสมทบส่วนลดบางส่วนให้แก่สถานศึกษา ให้เสนอครม. ภายใน 1 สัปดาห์ รวมถึงแนวทางการช่วยเหลือปัญหาทางการเงินแก่สถานศึกษาเอกชนด้วย

มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้

ครม. มอบหมายให้กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หารือกับธนาคารพาณิชย์ ดำเนินมาตรการผ่อนปรนการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย หรือเลื่อนงวดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ให้แก่ทั้งประชาชนและผู้ประกอบการอย่างจริงจัง และกำหนดมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือประชาชนสำหรับผู้ให้บริการนอกระบบการกำกับของ ธปท. และกำหนดมาตรการจริงจังสำหรับผู้ทวงถามหนี้ที่ดำเนินการอย่างไม่เป็นธรรมกับประชาชนด้วย และให้ดำเนินการโดยเร็วที่สุด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.ค. 64)

Tags: , , , ,