จีนผ่านกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีผลบังคับใช้ 1 พ.ย.นี้

รัฐสภาจีนผ่านร่างกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Information Protection Law – PIPL) ในวันนี้ เพื่อกำหนดกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นกับบริษัทที่เก็บข้อมูลและจัดการข้อมูลของผู้ใช้งาน โดยการผ่านกฎหมาย PIPL ฉบับนี้ อาจส่งผลกระทบต่อแนวทางการดำเนินงานของบริษัทเทคโนโลยีของจีน

ทั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่จีนออกกฎหมาย PIPL เพื่อกำหนดกฎระเบียบในการจัดเก็บข้อมูล การกำหนดกระบวนการ และการป้องกันข้อมูล โดยกฎหมายดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะปกป้องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลบนโลกออนไลน์ และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 พ.ย.นี้

หลังจากที่มีการร่างกฎหมายดังกล่าวหลายครั้ง ในที่สุดรัฐสภาจีนก็อนุมัติร่างกฎหมาย PIPL ในวันนี้ อย่างไรก็ดี จีนยังไม่มีการเผยแพร่เนื้อหาโดยละเอียดของกฎหมายในขณะนี้

กฎหมาย PIPL กำหนดว่า บริษัทที่ประมวลผลข้อมูลไม่สามารถที่จะปฏิเสธการให้บริการแก่ลูกค้าที่ไม่ยินยอมให้ข้อมูลของพวกเขาถูกจัดเก็บ นอกเสียจากว่า ข้อมูลนั้นจำเป็นต่อการจัดหาผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการ นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดข้อบังคับที่เข้มงวดเกี่ยวกับการโอนข้อมูลของพลเมืองจีนออกนอกประเทศ โดยหากบริษัทใดละเมิดกฎหมายดังกล่าวจะต้องถูกลงโทษด้วยการปรับ

การผ่านกฎหมายดังกล่าวบ่งชี้ว่ารัฐบาลจีนยังคงเดินหน้าควบคุมอุตสาหกรรมเทคโนโลยี โดยในช่วงต้นเดือนก.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับดูแลด้านไซเบอร์ของรัฐบาลจีนมีคำสั่งให้ถอดแอปพลิเคชันของบริษัทตีตี ชูสิง (DiDi Chuxing) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรถรับส่งสัญชาติจีนออกจากแอปสโตร์ของจีน โดยกล่าวหาว่า ตีตี ชูสิงทำการเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานอย่างผิดกฎหมาย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ส.ค. 64)

Tags: , ,