ทริสฯ จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ TU วงเงิน 6 พันลบ.ที่ A+แนวโน้ม Positive

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ที่ระดับ “A+” และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนซึ่งไม่มีประกันและไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท (Hybrid Debentures) ของบริษัทที่ระดับ “A-“

พร้อมกันนี้ ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 6 พันล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “A+” ด้วย โดยแนวโน้มอันดับเครดิตยังคง “Positive” หรือ “บวก”

ทั้งนี้ อันดับเครดิตของหุ้นกู้ชุดใหม่ใช้แทนอันดับเครดิตหุ้นกู้เดิมที่ได้รับการจัดอันดับเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2564 เนื่องจากบริษัทแจ้งความประสงค์เพิ่มวงเงินรวมของหุ้นกู้จากเดิม 5 พันล้านบาท โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่นี้ไปจ่ายชำระคืนหนี้เดิมและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท

อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่เข้มแข็งของบริษัทในฐานะผู้ผลิตอาหารทะเลแปรรูปชั้นนำของโลก รวมถึงการมีสินค้าและตลาดที่หลากหลาย ตลอดจนตราสัญลักษณ์สินค้าซึ่งเป็นที่รู้จักทั้งในทวีปยุโรปและประเทศสหรัฐอเมริกา ลักษณะของธุรกิจที่คู่แข่งรายใหม่เข้ามาได้ยากเนื่องจากมีโควต้าการจับปลาและการดำเนินธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงผลกระทบจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และความไม่แน่นอนในเรื่องวิวัฒนาการของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) อีกด้วย

ผลการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 อันเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เย็น ตลอดจนผลการดำเนินงานที่ดีของธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า โดยในช่วงดังกล่าว บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 16.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยมาอยู่ที่ 7.8 พันล้านบาท อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 11.5% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 จากระดับ 7%-10% ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

โครงสร้างทางการเงินและภาระหนี้สินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นโดยสืบเนื่องมาจากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของธุรกิจหลัก ตลอดจนนโยบายชะลอการลงทุนในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนลดลงมาอยู่ที่ระดับ 52.3% ณ สิ้นปี 2563 และที่ระดับ 53.1% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 จากระดับ 55%-60% ในระหว่างปี 2560-2562 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายก็ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4.2 เท่าในปี 2563 จนถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2564 จากระดับ 6-7 เท่า ณ ช่วงสิ้นปี 2560 จนถึงปี 2562

ทริสเรทติ้ง คาดว่าบริษัทจะยังคงมีผลการดำเนินงานที่ดีแม้จะต้องเผชิญกับความท้าทายในหลาย ๆ ด้าน ทั้งนี้ บริษัทมีแผนจะเปิดตัวสินค้าใหม่หลายรายการในอนาคตจากผลของกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการผลิตสินค้าเพิ่มมูลค่าและสินค้าที่มีนวัตกรรมที่มีอัตรากำไรที่ดี ทริสเรทติ้งคาดว่าสินค้าที่มีนวัตกรรมของบริษัทจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้น ในขณะที่กลยุทธ์การให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการดำเนินงานเมื่อผนวกกับภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นภายหลังโรคโควิด 19 ก็น่าจะช่วยให้ผลการดำเนินงานของบริษัทอยู่ในระดับที่น่าพอใจในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า

ณ เดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยจำนวน 6.8 หมื่นล้านบาทซึ่งประกอบด้วยหุ้นกู้และหุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุนจำนวนประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาท เงินกู้ยืมระยะยาวจำนวน 2.7 หมื่นล้านบาท และเงินกู้ระยะสั้นอีกจำนวน 7 พันล้านบาท

ข้อกำหนดทางการเงินสำหรับหุ้นกู้และเงินกู้ยืมจากธนาคารระบุให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อทุนต่ำกว่า 2 เท่าและอัตราส่วนความสามารถในการชำระดอกเบี้ยมากกว่า 3 เท่า ทั้งนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อทุนอยู่ที่ระดับ 1 เท่าและมีอัตราส่วนความสามารถในการชำระดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 9.1 เท่า ซึ่งทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทน่าจะสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดทางการเงินดังกล่าวได้ตลอดช่วงระยะเวลาประมาณการ

แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive” หรือ “บวก” สะท้อนถึงสถานะทางการเงินของบริษัทที่แข็งแกร่งขึ้นจากผลของกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่มีนวัตกรรมและการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของบริษัท

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากโครงสร้างเงินทุนและกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทยังคงปรับตัวดีขึ้นจนส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทต่ำกว่าระดับ 4 เท่าอย่างต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนตัวลงกว่าที่คาดไว้เป็นอย่างมากหรือบริษัทมีการลงทุนขนาดใหญ่โดยใช้เงินทุนจากการกู้ยืมจนส่งผลให้งบการเงินและกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้อ่อนแอลงอย่างมีสาระสำคัญ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 พ.ย. 64)

Tags: , , , ,