ธปท. ย้ำธุรกรรมทางการเงินดิจิทัลต้องสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยเป็นสำคัญ

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงาน Bangkok FinTech Fair 2021 หัวข้อ “Digital Outlook and Overview: ก้าวผ่านวิกฤติ สู้โควิดด้วยดิจิทัล” ว่า สถานการณ์โควิด-19 เป็นการเร่งให้ประชาชนหันใช้การทำธุรกรรมทางการเงินด้วยระบบดิจิทัลมากขึ้นในลักษณะการใช้งานจริงอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นบริบทใหม่ที่ก้าวสู่ระบบการเงินดิจิทัล ขณะเดียวกันผู้ประกอบการต่างๆทั้งผู้ประกอบการที่เป็นธนาคาร ผู้ประกอบการที่ไม่ได้เป็นธนาคาร (Non-Bank) และผู้ประกอบการด้านฟินแทค มีการพัฒนาการบริการเนดิจิทัลใหม่ๆ ออกมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และมีตัวเลือกในการเข้าถึงการทำธุรกรรมทางการเงินอื่นๆมากขึ้นที่เข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ ธปท.จะต้องมีการทำควบคู่กันไปพร้อมกับการพัฒนาระบบการเงินใหม่ๆ คือ การรักษาเสถียรภาพ และการดูแลในเรื่องความปลอดภัยของการทำธุรกรรมต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและผู้ใช้บริการต่างๆ ทำให้การต่อยอดพัฒนาบริการทางการเงินต่างๆมีความน่าเชื่อถือและเกิดมีความมั่นใจในการใช้บริการ เพื่อทำให้การพัฒนาระบบการเงินของไทยมีเสถียรภาพที่ดีอย่างต่อเนื่องและเกิดความยั่งยืน

“ดิจิทัลเทคโนโลยีไม่ว่าจะมีออกมาใหม่ๆจำนวนมากเท่าไหร่ แต่สิ่งที่สำคัญในการที่คนจะให้ความนิยมในการใช้มากขึ้น คือ เรื่อง Trust เป็นสิ่งสำคัญ ทำยังไงให้กลไกต่างๆในการให้บริการสามารถสร้าง Trust ได้ในวงกว้าง ซึ่งเป็นบทบาทของเราที่เป็นผู้กำกับดูแลที่เราให้ความสำคัญ ซึ่งการที่มีดิจิทัลเข้ามาทำให้การทำธุรกิจมีต้นทุนที่ถูกลง คนใช้งานก็มีความสะดวกมากขึ้น แต่ยังต้องสร้าง Trust ให้ทุกภาคส่วนเกิดความเชื่อถือในการใช้เป็นสิ่งสำคัญ”

นายรณดล กล่าว

ขณะที่การพัฒนาด้านฟินเทคในประเทศไทย ธปท.ยังคงเปิดกว้างให้ผู้ประกอบการต่างๆ เข้ามาพัฒนาระบบ เพื่อร่วมกันสร้างศักยภาพของระบบการเงินในยุคดิจิทัลของไทยให้ก้าวหน้ามากขึ้น และสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับผู้ใช้บริการ อีกทั้งเข้าถึงกลุ่มคนอีกมากที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินของธนาคารได้ ซึ่งเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยเข้ามาทำให้คนสามารถเข้าถึงบริการทางเงินที่มากขึ้น และช่วยลดต้นทุนในการให้บริการทางเงิน ซึ่ง ธปท.ได้มีการปรับเปลี่ยนบริบทของตัวเองให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และเข้ามาเสริมในการผลักดันการพัฒนาต่างๆ

สิ่งที่ธปท.ได้กำหนดเป็นเกณฑ์ในการส่งเสริมการพัฒนาระบบการเงินของประเทศไทยนั้นมี 3 ด้าน ได้แก่ การเปิดกว้างในการแข่งขัน (Open compettition) ให้ผู้ประกอบการต่างๆ เข้ามาร่วมพัฒนา มีการแข่งขันเกิดขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการและเป็นประโยชน์ต่อส่วรวม การเปิดกว้างในการสร้างโครงสร้างพื้ฐานทางการเงิน (Open infrastructure) ซึ่ง ธปท.สร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่จำเป็นในการพัฒนา ช่วยให้เกิดความสะดวกในการพัฒนาอย่างราบรื่น เพื่อลดอุปสรรคต่างๆที่เกิดขึ้นในการเดินหน้าพัฒนาระบบการเงินไทย เพื่อเกิดการพัฒนาออกมาอย่างจริงจัง และการเปิดเผยข้อมูล (Open data) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการอำนวยความสะดวกในการให้บริการต่างๆ ข้ามระบบกันระหว่างผู้ประกอบการที่จะทำให้เกิดความสะดวกต่อผู้ใช้บริการมากขึ้น

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) กล่าวว่า ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ได้มีการปรับตัวมาอย่างตลอดเวลา และเป็นธุรกิจแรกๆที่มีการปรับตัวหลังจากเริ่มเห็นสัญญาณว่าการที่มีดิจิทัลเข้ามาจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจธนาคารพาณิชย์เป็นกลุ่มแรกๆ ทำให้ธนาคารมีการปรับตัวเข้าสู่ระบบดิจิทัลเป็นกลุ่มแรกๆ เพื่อทำให้ธนาคารยังสามารถอยู่รอดได้ และพยายามหาแนวทางต่างๆในด้านดิจิทัลเข้ามาเพื่อต่อยอดการบริการในการอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าของธนาคาร และเข้ามาเสริมในการลดต้นทุนของธนาคาร

ขณะที่การพัฒนาบริการทางการเงินในระบบดิจิทัลยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ในส่วนของบริบทของธนาคารมองว่ายังไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาธนาคารจะมีผลกระทบจากผู้เล่นรายใหม่ๆที่เป็นฟินเทคเข้ามากระทบบ้างก็ตาม แต่ธนาคารยังเป็นช่องทางที่คนส่วนใหญ่ยังมีการใช้บริการต่อเนื่อง และให้ความเชื่อถือมากที่สุดในการใช้บริการ อีกทั้งธนาคารเองก็ยังไม่หยุดในการพัฒนาบริการต่างๆในระยยดิจิทัล เพื่อที่จะเข้ามาติบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เหมาะสม เพื่อเป็นการต่อยอดในการนำเสนอบริการให้กับลูกค้าของธนาคาร

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าปัจจุบันมีเทคโนโลยีด้านการเงินใหม่ๆออกมามากขึ้น แต่จะต้องคำนึงถึงว่าเทคโนโลยีด้านการเงินใหม่ๆที่ออกมานั้นจะมีประโยชน์ต่อภาพรวมและสามารถสร้างมูลค่าให้กับประเทศได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ต้องนำมาคำนึงถึงในการที่จะนำดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาใช้ และดิจิทัลเทคโนโลยีนั้นจะต้องมีความปลอดภัยในการใช้บริการ มีการใช้ข้อความอย่างเป็นธรรม และระบบการให้บริการมีเสถียรภาพ เพื่อทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ ทำให้ทุกภาคส่วนยอมรับในการใช้บริการ

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า ภาครัฐได้มีการนำระบบดิจิทัลในการให้บริการด้านการเงินกับประชาชนมาใช้ผ่านนโยบายต่างๆที่ออกมาเริ่มตั้งแต่โครงการชิม ช้อป ใช้ ก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 และได้มีการทำนโยบายต่างๆออกมาในระบบดิจิทัลในช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับการที่สนับสนุนให้เกิดการเว้นระยะห่างทางสังคม และการนำดิจิทัลมาใช้ในการลดการสัมผัส ผ่านโครงการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ม.33 เรารักกัน เป็นต้น

โดยภาครัฐยังคงเดินหน้าในการนำระบบดิจทัลมาอำนวยความสะดวกต่างๆในการให้บริการกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีการปรับปรุงระบบต่างๆในการทำงาน เพื่อทำให้เกิดผลในการนำระบบดิจิทัลมาใช้ในงานบริการต่างๆของภาครัฐออกมาเป็นรูปธรรม ทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากที่สุด รวมไปถึงการต่อยอดการบริการใหม่ๆของภาครัฐที่จะออกมาในอนาคต ซึ่งการผลักดันด้านการพัฒนาระบบดิจิทัลของภาครัฐเพื่อให้การใช้บริการต่างๆในระบบดิจิทัลมีการใช้งานอย่างจริงจังในวงกว้าง

นอกจากนี้ในส่วนของการทำงานนั้นภาครัฐยังคงมีการปรับมุมมองในการทำงานและกระบวนการคิดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และสามารถนำเสนอบริการต่างๆออกให้ตอบโจทย์กับความต้องการของประชาชนให้ได้มากที่สุด ทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายในการใช้บริการต่างๆของภาครัฐ ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐมีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้งานบริการต่างๆของภาครัฐมีความสะดวก รวดเร็ว และเชื่อมโยงกัน เพื่อลดอุปสรรคในการทำงานให้ลดลงมากที่สุด และทำให้ประชาชนเกิดความพึงพอในในการใช้บริการอย่างดี

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ต.ค. 64)

Tags: , , , , , ,