ธปท.เผยคนไทยลงทุนตปท.สูงสุดแตะ 1.7 หมื่นล้านดอลล์ หลังผลักดัน FX ecosystem ใหม่

น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า มีความคืบหน้าของแผนการผลักดันระบบนิเวศใหม่ของอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) ที่ ธปท.ได้ดำเนินการประสบผลสำเร็จไปแล้ว ใน 4 เรื่องสำคัญ คือ

1. การเปิดเสรีบัญชีเงินฝากสกุลต่างประเทศ (FCD) ให้มีความสะดวกคล้ายบัญชีเงินบาท เพื่อส่งเสริมให้บัญชี FCD เป็นต้นทางสำหรับการต่อยอดการลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศ และการบริหารความเสี่ยงของผู้ประกอบการได้ดีขึ้น โดยผ่อนคลายเกณฑ์ดังนี้

  • 1) ยกเลิกการแยกประเภทบัญชี
  • 2) คนไทยสามารถซื้อเงินตราต่างประเทศฝากเข้าบัญชีได้เสรีโดยไม่จำกัดจำนวน
  • 3) การโอนระหว่างบัญชี FCD ของคนไทยในประเทศทำได้เสรีโดยไม่ต้องแสดงเอกสาร

ทั้งนี้ ส่งผลให้มีการใช้บัญชี FCD เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งจำนวนบัญชี และผู้ใช้บริการ โดยปริมาณธุรกรรมเฉลี่ยต่อเดือนปรับเพิ่มขึ้น 40% จากประมาณ 101.9 พันล้านดอลลาร์ (ม.ค.-พ.ย. 63) เป็น 140.6 พันล้านดอลลาร์ (ธ.ค. 63 -เม.ย. 64) ซึ่งเป็นผลจากหลักเกณฑ์ที่ผ่อนคลายและค่าธรรมเนียมที่ลดลง โดยธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้ประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนสำหรับบัญชี FCD ภายในธนาคารเดียวกัน

น.ส.ชญาวดี กล่าวว่า ผู้ได้รับประโยชน์จากการผ่อนคลายส่วนใหญ่เป็นรายใหม่ และกระจายไปในทุกกลุ่ม โดยจำนวนผู้ใช้บริการรายใหม่เป็นกลุ่มบุคคลธรรมดากว่า 60% ที่ทำเพื่อซื้อขายทองคำเป็นสกุลดอลลาร์ ขณะที่กลุ่มนิติบุคคล มีธุรกรรมการโอนระหว่างกันเพิ่มขึ้นในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ ปิโตรเคมี ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก และยานยนต์ โดยสกุลเงินที่นิยมใช้สูงสุด ได้แก่ เงินดอลลาร์ สรอ. เงินหยวน เงินยูโร เงินปอนด์ และเงินเยน

2. การผ่อนเกณฑ์และกระบวนการลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศให้ง่ายและสะดวกขึ้น

  • 1) เพิ่มวงเงินลงทุนรายย่อยเป็น 5 ล้านดอลลาร์ต่อปี
  • 2) ยกเลิกการจัดสรรวงเงินลงทุนของผู้ลงทุนสถาบันภายใต้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และยกเลิกการจำกัดวงเงินของการลงทุนผ่านตัวแทน
  • 3) ขยายขอบเขตสินทรัพย์ FX ที่สามารถซื้อขายในประเทศ ให้รวมถึงตราสารทางการเงินทุกประเภท และการซื้อขายทองคำด้วยสกุลเงินดอลลาร์

เกณฑ์ที่ผ่อนคลายมากขึ้น ได้ช่วยสนับสนุนให้การลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยนับจากไตรมาสสุดท้ายปี 63 ถึงเดือน พ.ค. 64 คนไทยออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศกว่า 17.8 พันล้านดอลลาร์ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อเทียบกับในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่มีค่าเฉลี่ยการออกไปลงทุนต่อปีเพียง 3 พันล้านดอลลาร์ และค่าสูงสุดต่อปีที่ 10 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นผลจากภาวะตลาดที่เอื้อต่อการลงทุนต่างประเทศด้วย

“ความติดถิ่นในการลงทุนของคนไทยปรับลดลง โดยดัชนี Home-Bias ไทยปี 2564 ลดลงมาอยู่ที่ 0.93 จากระดับ 0.95 ที่เป็นค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง ซึ่งสะท้อนแนวโน้มการกระจายการลงทุนที่ดีขึ้น”

น.ส.ชญาวดี ระบุ

ขณะเดียวกัน การลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากการกระจายการลงทุนของบุคคลทั่วไปเป็นหลัก โดยจำนวนผู้ลงทุนรายย่อยที่บริหารการลงทุนเองปรับเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า จาก 15,660 ราย เป็น 34,897 ราย ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มช่องทางและรูปแบบการลงทุนใหม่ของผู้ให้บริการ โดยระยะถัดไป ทางเลือกการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศจะมีความหลากหลายเพิ่มขึ้น โดยครอบคลุมทั้งการลงทุนในหุ้นต่างประเทศรายตัวด้วยต้นทุนต่ำ การซื้อขายทองคำเป็นดอลลาร์ รวมถึงการซื้อขายตราสารแสดงสิทธิ (Depositary Receipt : DR) อ้างอิงกับหุ้นต่างประเทศ

3. การลงทะเบียนแสดงตัวตนเพื่อซื้อขายตราสารหนี้ (Bond Investor Registration : BIR) ซึ่ง ธปท. ได้เปิดให้นักลงทุนต่างชาติเริ่มลงทะเบียนแล้วเมื่อเดือน เม.ย. 64 เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการซื้อขายตราสารหนี้ไทย โดยตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค. 65 เป็นต้นไป นักลงทุนต่างชาติต้องผ่านการลงทะเบียนก่อน จึงจะสามารถซื้อขายตราสารหนี้ไทยได้

การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยให้ภาครัฐมีข้อมูลที่ดีขึ้นในการติดตามพฤติกรรมนักลงทุนได้ทันการณ์ รวมถึงการดำเนินนโยบายและการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ด้วย อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการยกระดับการติดตามเงินทุนเคลื่อนย้าย ในระยะแรกจะเริ่มดำเนินการกับนักลงทุนต่างชาติก่อน และจะดำเนินการกับนักลงทุนในประเทศต่อไป

4. โครงการ Non-resident Qualified Company (NRQC) เป็นการผ่อนคลายให้นิติบุคคลต่างประเทศ (NR corporate) ที่มีภาระรับหรือจ่ายเงินบาทจากการค้าและการลงทุนโดยตรงในไทย เข้ามาทำธุรกรรมเงินบาทกับสถาบันการเงินในประเทศได้สะดวกคล่องตัวขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มขนาดและความลึกของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในไทย (onshore market)

โดยตั้งแต่เดือน ม.ค. – มิ.ย. 64 มีนิติบุคคลต่างประเทศ สมัครเข้าร่วมโครงการ NRQC จำนวน 27 ราย จากหลายอุตสาหกรรม อาทิ ปิโตรเคมี ยานยนต์ และเทคโนโลยี ส่งผลให้มีธุรกรรมของ NRQC กับสถาบันการเงินไทยแล้วประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์

น.ส.ภาวิณี จิตต์มงคลเสมอ ผู้อำนวยการฝ่ายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวด้วยว่า การผลักดัน FX ecosystem ระยะถัดไปนั้น ธปท.จะดำเนินการปรับหลักเกณฑ์การแลกเปลี่ยนเงิน (FX Regulatory Framework) เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถรองรับความผันผวนของค่าเงินได้ดีขึ้น โดยแนวทางเบื้องต้น ดังนี้ 1. ลดข้อจำกัดการใช้ FX ทั้งในและต่างประเทศ 2. ผู้ที่มีความเสี่ยง FX สามารถป้องกันความเสี่ยงได้ง่ายและยืดหยุ่นขึ้น 3. ยกเว้นการแสดงเอกสารสำหรับธุรกรรมที่ทำเป็นปกติ โดยได้หารือกับ stakeholders และอยู่ระหว่างการปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องร่วมกับกระทรวงการคลัง ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในสิ้นปี 2564

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 มิ.ย. 64)

Tags: , , , , , , , , ,