นพ.ยง เปิด 20 ข้อควรรู้เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19

นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงข้อควรรู้ทั่วไปเกี่ยวกับวัคซีนโควิด 20 ข้อ ประกอบด้วย

1. วัคซีนทุกชนิดที่องค์การอนามัยโลกรับรอง กระตุ้นภูมิต้านทานได้ดี

2. ไม่มีวัคซีนตัวไหนที่ป้องกันการติดเชื้อได้แน่นอน ถ้าติดเชื้อ จำนวนเชื้อจะน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้ฉีดและสามารถลดความรุนแรงของโรค อาการลดลง ลดการป่วยตายได้

3. ภูมิต้านทาน และประสิทธิภาพ จะลดลงตามระยะเวลา โดยทั่วไป ภูมิต้านทานที่สูงจะอยู่นานกว่าภูมิต้านทานที่ต่ำ ถึงแม้วัคซีนที่กระตุ้นภูมิต้านทานได้สูง เช่น mRNA ก็มีการแนะนำให้กระตุ้นหลังฉีดครบ 6 เดือน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง

4. ประสิทธิภาพของวัคซีนขึ้นอยู่กับหลายองค์ประกอบ การศึกษาในอังกฤษ ภูมิต้านทานที่สูงสัมพันธ์กับประสิทธิภาพการป้องกันโรค

5. การให้วัคซีนเบื้องต้น (primary immunization) จะใช้ 2 เข็ม ห่างกันตามกำหนดของแต่ละวัคซีน ส่วนมาก 3-4 สัปดาห์ Astra Zeneca ห่าง 4-12 สัปดาห์ ยกเว้นของ Johnson & Johnson ให้เข็มเดียว

6. ตามหลักการของวัคซีน การเว้นระยะห่าง ระหว่างเข็มที่ 1 และ เข็มที่ 2 จะกระตุ้นภูมิต้านทานได้สูงกว่า (แต่ถ้าห่างกันเกินกลัวว่าจะเกิดการติดเชื้อเสียก่อน) ดังนั้นเข็ม 2 ถ้าไม่สามารถฉีดตามนัดให้เลื่อนเข็ม 2 ออก ไม่เลื่อนเข้า และช้าไป ถึงแม้จะนานเป็นเดือน ก็ไม่มีการเริ่มต้นให้วัคซีนใหม่

7. การให้ 2 เข็ม ที่อยู่ระยะใกล้กันอย่างที่ในปัจจุบัน ถือว่าเป็น primary จำเป็นที่จะต้องมีการกระตุ้น (booster) เช่น ไวรัสตับอักเสบ บี ฉีด 0 1 และ 6 เดือน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ถ้าต้องการให้ภูมิคงอยู่สูง และนาน ต้องมีการกระตุ้นเข็ม 3

8. ภูมิต้านทานที่เกิดจากการติดเชื้อ จะต่ำกว่าภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีน 2 เข็ม

9. ผู้ที่ติดเชื้อแล้ว การให้เพิ่มอีก 1 เข็มของวัคซีน จะเป็นการกระตุ้นให้ภูมิต้านทานสูงขึ้นมาก เหมือนการติดเชื้อเป็นวัคซีนเข็มที่ 1 และ การฉีดวัคซีนเป็นการให้เข็มที่ 2

10. ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม แล้วติดเชื้อ การติดเชื้อจะเหมือนเป็นการให้วัคซีนเข็ม 3 หรือกระตุ้น ภูมิจะสุงขึ้นมาก เพียงพอให้อยู่นาน

11. ให้วัคซีนเชื้อตาย เป็นทั้งตัวไวรัส เป็นการเริ่มต้น (prime dose) ที่ดี จำลองร่างกายให้เหมือนการติดเชื้อแบบไม่มีอาการ และการให้วัคซีนครั้งที่ 2 ต่างชนิดกันจะมีการกระตุ้นให้ภูมิได้สูง

12. การสลับใช้เชื้อตาย และตามด้วยไวรัสเวกเตอร์ เช่น Sinovac เข็มแรก AstraZeneca เข็มที่ 2 ที่ประเทศไทยให้ในภาวะวัคซีนมีจำกัด กระตุ้นภูมิต้านทานได้ดี เท่าเทียมกับการให้ AstraZeneca 2 เข็ม เช่นเดียวกัน การให้วัคซีนเชื้อตาย แล้วตามด้วย เข็ม 2 mRNA ก็กระตุ้นภูมิต้านทานได้ดีใกล้เคียงกับ mRNA 2 เข็ม วัคซีนไวรัสเวกเตอร์หรือ mRNA จึงเป็นตัวกระตุ้น (Boost) ที่ดี เหมาะที่ใช้เป็น ตัวกระตุ้นไม่ว่าจะหลังการติดเชื้อ หรือผู้ที่ได้รับวัคซีนเชื้อตาย

13. ได้รับวัคซีนเชื้อตาย ครบ 2 เข็มแล้ว กระตุ้นด้วยเข็ม 3 ด้วยเชื้อตายอีกหลัง 3 เดือนขึ้นไป ภูมิจะสูงขึ้นประมาณ 10 เท่า ถ้ากระตุ้นด้วยไวรัสเวกเตอร์ หรือ mRNA จะกระตุ้นได้สูงมากหรือขึ้นสูง 100 เท่า

14. ในทางปฏิบัติหรือทั่วไป ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจภูมิต้านหลังฉีด จะใช้ข้อมูลการศึกษาวิจัย และออกเป็นแนวทางปฏิบัติ เช่นระยะเวลาการกระตุ้นเข็ม 3 ชนิดของวัคซีนที่ใช้กระตุ้นเข็ม 3

15. ผู้ที่ได้รับการกระตุ้นเข็ม 3 แล้ว การให้เข็ม 4 ไม่ได้เกิดการกระตุ้นให้ภูมิสูงขึ้นมากอีก การให้เข็ม 4 จึงไม่จำเป็น ยกเว้นผู้ที่ต้องการเดินทางไปต่างประเทศ จำต้องให้วัคซีนตามเงื่อนไข ของประเทศนั้น ๆ

16. วัคซีนที่มีใช้อยู่ขณะนี้ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ จึงไม่สามารถใช้ภูมิคุ้มกันหมู่ในการป้องกันการระบาดของโรค ช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ และประชากรควรได้รับวัคซินให้มากที่สุด

17. วัคซีนที่มีอยู่ควรใช้ฉีดให้เร็วที่สุด ไม่ควรเก็บอยู่ในตู้เย็น เพื่อเก็บไว้เข็มที่ 2 เข็มที่ 2 สามารถเลื่อนออกได้ ในกรณีที่ขาดแคลน ไม่เช่นนั้นวัคซีนบางชนิดมีอายุสั้น เช่น mRNA วัคซีนอยู่ได้อย่างมาก 1 เดือนหลังละลายแล้ว กลุ่มเสี่ยงผู้สูงอายุ ควรได้รับวัคซีนก่อน แล้วจึงลงมาที่ผู้มีความเสี่ยง อันตรายจากโรคน้อยกว่า เพื่อลดอัตราป่วยตาย

18. ถ้ามีผู้ป่วยวันละพัน แต่มีการเสียชีวิตน้อยมาก เช่นวันละหลักหน่วย 2-3 คน ก็คงต้องยอมและต่อไปทุกคนมีภูมิในตัวระดับหนึ่ง โรคก็จะรุนแรงน้อยลง เหมือนโรคทางเดินหายใจทั่วไป

19. ไวรัสนี้มีการกลายพันธุ์ได้ตามกาลเวลา แต่การกลายพันธุ์ต่อวัคซีนโควิดจะไม่เหมือนแบบไข้หวัดใหญ่ การเปลี่ยนแปลงชนิดของวัคซีนจะเกิดขึ้นช้ากว่าไข้หวัดใหญ่มาก ปัจจุบัน วัคซีนสายพันธุ์อู่ฮั่น ถ้ากระตุ้นภูมิที่สูงมาก ก็จะลดความรุนแรงสายพันธุ์เดลตาได้

20. ความสมดุลที่ทุกชีวิตต้องอยู่ได้ ในภาวการณ์ระบาดของโรคทั้งทางสุขภาพร่างกาย และจิตใจ รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจ ทุกคนต้องร่วมมือและรู้จักแบ่งปัน วันพรุ่งนี้จะดีกว่าวันนี้แน่นอน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 พ.ย. 64)

Tags: , , ,