นพ.ยง เผยเบื้องต้นพบฉีดวัคซีน 2 เข็มต่างชนิดภูมิคุ้มกันสูงแต่ต้องรอผลศึกษาชัดเจนสิ้นก.ค.

นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันยังคงแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั้งเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 เป็นชนิดเดียวกัน โดยขณะนี้เริ่มมีแนวโน้ม มีข้อมูล และกำลังศึกษาการฉีดวัคซีนต่างชนิดกันในเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 เช่น การให้ virus vector (แอสตร้าเซนเนก้า) สลับกับ mRNA (ไฟเซอร์)

สำหรับประเทศไทย ในขณะนี้มีการใช้วัคซีนทั้งหมด 2 ชนิด คือแบบเชื้อตาย (วัคซีนซิโนแวก และซิโนฟาร์ม) กับ virus vector (แอสตร้าเซนเนก้า) ซึ่งในบางรายที่มีอาการแพ้วัคซีนเข็มแรก จะมีการให้วัคซีนเข็ม 2 แบบต่างชนิดกัน ซึ่งขณะนี้มีมากกว่า 1,000 ราย

โดยจากการศึกษา พบว่าการให้วัคซีนเข็มแรกเป็นวัคซีนเชื้อตาย (ซิโนแวก) และอีก 3-4 สัปดาห์ต่อมาให้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ปรากฏว่าภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นสูงกว่าการให้วัคซีนเชื้อตาย (ซิโนแวก) 2 เข็มห่างกัน 3-4 สัปดาห์อยู่ประมาณ 8 เท่า หรือสูงกว่าภูมิต้านทานที่เกิดจากการติดเชื้อจริงในผู้ป่วยประมาณ 10 เท่า แต่ยังน้อยกว่าการให้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 ครั้งห่างกัน 10 สัปดาห์อยู่เพียงเล็กน้อย

การให้วัคซีนสลับ แบบเข็มแรกเป็นเชื้อตาย และเข็มที่ 2 เป็นไวรัสเวกเตอร์ (ห่างกัน 3-4 สัปดาห์) จะทำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนมีภูมิต้านทานสูงในเวลาเพียง 6-8 สัปดาห์ ซึ่งต่างกับผู้ที่ได้รับวัคซีนไวรัสเวกเตอร์ 2 ครั้ง (ห่างกัน 10 สัปดาห์) ที่กว่าจะมีภูมิต้านทานสูง จะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 12-14 สัปดาห์

“การศึกษานี้ ถือเป็นประโยชน์ในช่วงที่มีการระบาด เนื่องจากทำให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนมีภูมิสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันการบริหารวัคซีนจะทำได้ง่ายขึ้น ในกรณีที่มีวัคซีนในปริมาณจำกัด” นพ.ยงระบุ

ทั้งนี้ คาดว่าการศึกษาทั้งหมดน่าจะเห็นความชัดเจนภายในสิ้นเดือนนี้ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ได้ยังเป็นเพียงข้อมูลที่ศึกษาระดับภูมิต้านทาน โดยจะต้องทำการศึกษาต่อเพิ่มเติม เพื่อให้ทราบถึงประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันโรคถ้าให้วัคซีนแบบสลับชนิดกัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.ค. 64)

Tags: , , , , , , ,