นักวิจัยอังกฤษชี้ประสิทธิภาพวัคซีนโควิดลดลงใน 6 เดือน จำเป็นต้องฉีดกระตุ้น

นักวิจัยในสหราชอาณาจักรระบุว่า ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 ของวัคซีนไฟเซอร์/ไบออนเทค และออกซ์ฟอร์ด/แอสตร้าเซนเนก้าจำนวน 2 โดสนั้น จะเริ่มลดลงภายใน 6 เดือน ซึ่งตอกย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันหรือบูสเตอร์

ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากการศึกษาของ ZOE COVID แสดงให้เห็นว่า ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 ของวัคซีนไฟเซอร์หลังจากฉีดโดสที่ 2 ผ่านไป 5-6 เดือนจะลดลงจากระดับ 88% เหลือ 74%

ส่วนวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าจะมีประสิทธิภาพลดลงจาก 77% เหลือ 67% หลังฉีดโดสที่ 2 ในเวลา 4-5 เดือน

ผลการศึกษาดังกล่าวรวบรวมข้อมูลจากผลการทดลองมากกว่า 1.2 ล้านครั้ง โดยการวิเคราะห์ข้อมูลก่อนหน้านี้ชี้ให้เห็นว่า วัคซีนสามารถให้ผลในการป้องกันโรคอย่างน้อย 6 เดือน

นายทิม สเปคเตอร์ นักวิจัยหลักของการศึกษา ZOE COVID กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ประสิทธิภาพการป้องกันในกลุ่มผู้สูงอายุและบุคลากรทางการแพทย์ อาจลดลงต่ำกว่า 50% ในช่วงฤดูหนาว

ทั้งนี้ สหราชอาณาจักรเริ่มวางแผนฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ให้กับประชาชนในปีนี้ หลังจากบรรดาที่ปรึกษาด้านวัคซีนกล่าวว่า อาจจำเป็นต้องฉีดวัคซีนโดสที่ 3 ให้แก่ผู้สูงอายุและผู้อ่อนแอที่สุดตั้งแต่เดือนก.ย.นี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ส.ค. 64)

Tags: , , , , , , , , , , , , , , ,