นายกฯ วาง 5 เป้าหมายหลักในแผนพัฒนาฯ 13 พลิกโฉมประเทศ ยอมรับโควิดส่งผลกระทบ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เปิดงานประชุมประจำปี 64 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และปาฐกถาพิเศษ “พลิกโฉม อนาคตประเทศ” ว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่สะท้อนว่า การที่ประเทศจะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง ต้องมีความพร้อมและเผชิญความผันผวนต่างๆ อย่างรัดกุม และสมดุลในทุกด้าน และสิ่งสำคัญที่จะรับมือได้ คือ การมีแผนพัฒนาประเทศที่มีเป้าหมายชัดเจนและมีแนวทางที่เป็นรูปธรรม และเป็นแผนที่ดึงทุกฝ่ายมาร่วมมือกันในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรอบกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์ การพัฒนาประเทศเป็นเวลา 60 ปี มีแผนพัฒนาฯมาแล้ว 12 ฉบับ แต่ละฉบับมีเป้าหมายและแนวทางที่แตกต่างกันตามแต่สถานการณ์ แผนพัฒนาฯเป็นแผนปฏิบัติการทุกๆ 5 ปี ของยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งทำให้การพัฒนาประเทศทุกๆ 5 ปีเป็นไปอย่างสอดคล้องในทิศทางเดียวกัน

โดยแผนพัฒนาฯฉบับที่ 12 ซึ่งเป็นแผน 5 ปีแรกของยุทธศาสตร์ชาติจะสิ้นสุดลง ก.ย. 65 และจะมีการประกาศใช้แผนพัฒนาฯฉบับที่ 13 ที่จะเป็นแผนปฏิบัติการระยะที่ 2 ของยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจะมีการประกาศใช้ในช่วงปี 66-70

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มที่จะกระทบต่อโลกและประเทศไทยในปัจจุบัน คือ เมกะเทรนด์ คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย การเปลี่ยนแปลงค่านิยมและรูปแบบการใช้ชีวิต การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน ภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ยิ่งทำให้เกิดโอกาสในการพัฒนารูปแบบใหม่ๆที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ส่งผลกระทบต่อชีวิตและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ทั้งนี้ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา เป็นปัจจัยหนึ่งที่เร่งให้เมกะเทรนด์รวดเร็วขึ้น จนทำให้วิถีชีวิตของคนปรับเปลี่ยนไปในรูบแบบ New Normal ดังนั้น การกำหนดทิศทางในอนาคตของไทยจำเป็นต้องพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงภายนอกประเทศ ควบคู่กับการเปลี่ยนแปลงปัจจัยภายในและศักยภาพของประเทศ ทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน เพื่อช่วยเป็นแนวทางในการตัดสินใจในที่สิ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับประเทศให้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างภูมิคุ้มกันของประเทศให้มีความเข้มแข็ง เพื่อให้สามารถรับมือไปกับความเสี่ยงของเมกะเทรนด์ ไปพร้อมกับการเตรียมสภาพแวดล้อมของประเทศให้มีความพร้อมและเอื้อต่อการแสวงหาโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้เหมาะสมทันต่อสถานการณ์

ทั้งนี้ หากไทยมีการวางแผนและบริหารจัดการความเสี่ยงต่างๆได้เป็นอย่างดี อาจเปลี่ยนความเสี่ยงเป็นโอกาสในการพัฒนาประเทศ เศรษฐกิจและสังคมได้ทั้งหมด

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในแผนพัฒนาฯฉบับที่ 13 ถึงเวลาที่ต้องกำจัดจุดอ่อนและเสริมสร้างความเข้มแข็ง เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความเติบโตทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน และร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯฉบับที่ 13 มุ่งหวังที่จะปรับเปลี่ยนโฉมหน้าใหม่ของประเทศไทย ที่ก้าวทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยมีเป้าหมายที่สำคัญ ใน 5 เรื่อง

1.การปรับโครงสร้างการผลิตของประเทศให้เป็นเศรษฐกิจที่อยู่บนฐานนวัตกรรม ที่ผ่านมารัฐบาลได้สนับสนุนระบบนิเวศที่เอื้อต่อการวิจัยและนวัตกรรม การพัฒนาอุตสาหกรรมให้ตอบสนองการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีหรือการค้าโลก รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง

2.การพัฒนาคนให้มีความสามารถและคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมกับโลกยุคใหม่ โดยพัฒนาคนไทยให้มีความพร้อมในการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 เช่น การปฏิรูปการเรียนการสอนโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้มากขึ้น

3.การสร้างโอกาสและสังคมที่เป็นธรรม ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามขจัดความเลื่อมล้ำด้านต่างๆ เช่น ความเลื่อมล้ำด้านรายได้ การปรับปรุงระบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงให้มีการแจกจ่ายเบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ส่วนด้านสาธารณสุข รัฐบาลได้ดำเนินการโครงการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

4.การสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ ซึ่งรัฐบาลมุ่งเน้นการพัฒนาประเทศในทุกมิติต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ รวมถึงมีความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และรัฐบาลได้จัดทำแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ 64-73 เพื่อไปสู่การบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก 20%

5.การเตรียมพร้อมประเทศในการรับมือกับความเสี่ยง และการเปลี่ยนแปลงภายใต้บริบทโลกใหม่ โดยให้ความสำคัญพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ และการพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐที่ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมครอลคลุมพื้นที่ทั่วประเทศให้สามารถเดินทางและขนส่งได้ต่อเนื่อง และการพัฒนารถไฟความเร็วสูง การพัฒนาระบบรถไฟฟ้า และการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิให้สามารถรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินได้มากขึ้น

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การบรรลุสู่เป้าหมายทั้ง 5 เรื่อง ถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทายอย่างยิ่ง และรัฐบาลพยายามวางรากฐานที่ต้องการที่จะบรรลุ และสิ่งสำคัญทำให้การพลิกโฉมประเทศไทยประสบความสำเร็จ ต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่ายให้ประเทศดียิ่งๆขึ้นไป รัฐบาลพร้อมทำทุกอย่างเพื่อสนับสนุนการพลิกโฉมของประเทศตามแนวทางแผนพัฒนาฯฉบับที่ 13 และนำพาประเทศสู่สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 ช่วงที่ผ่านมา ได้ทวีความรุนแรงขึ้นและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสภาพจิตใจของคนไทยทุกคน และหวังว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จะกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และรัฐบาลจะใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการคลี่คลายวิกฤตดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติโดยเร็วที่สุด ซึ่งรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาดังกล่าว ซึ่งระยะสั้นออกมาตรการต่างๆ และเร่งจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพให้เข้าถึงประชาชนอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ทำให้เกิดข้อติดขัดต่อการพัฒนาประเทศตามแนวทางที่เคยได้วางแผนเอาไว้ ภายใต้สถานการณ์ปกติ รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาประเทศเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายระยะยาว จึงได้สนับสนุนให้มีการเพิ่มเติมแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ

“รัฐบาลขอให้คำมั่นว่า จะพยายามเร่งรัดและจัดหาฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพให้กับประชาชนอย่างครอบคลุม ทั่วถึงและรวดเร็ว เพื่อลดการเจ็บป่วย รุนแรง และเสียชีวิต รวมถึงออกมาตรการเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน เพื่อเยียวยาและบรรเทาผลกระทบต่างๆให้แก่ประชาชน และผมขอยืนยัน ที่จะนำพาประเทศให้รอดพ้นจากวิกฤตในครั้งนี้ให้ได้โดยเร็วที่สุด และพลิกฟื้นประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างเข้มแข็ง”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.ย. 64)

Tags: , ,