ผลวิจัยชี้ผู้ฉีดวัคซีนโควิดของจอห์นสันฯ อาจจำเป็นต้องฉีดบูสเตอร์

ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แบบโดสเดียวของบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (J&J) อาจจำเป็นต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (booster) อีก 1 โดสเพื่อป้องกันไวรัสโควิดสายพันธุ์ต่างๆ ซึ่งกำลังแพร่ระบาดทั่วโลกในขณะนี้

เว็บไซต์การแพทย์ bioRxiv ได้เผยแพร่รายงานเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (21 ก.ค.) ระบุว่า ตัวอย่างเลือดจากผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของ J&J นั้น มีแอนติบอดีลบล้างฤทธิ์ (neutralizing antibody) ที่ระดับต่ำในการป้องกันเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา, เดลตาพลัส, เบตา และแลมบ์ดา

คณะนักวิจัยจากโรงเรียนแพทย์กรอสแมนแห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์กเปิดเผยว่า ระดับแอนติบอดีลบล้างฤทธิ์นั้นอยู่ในระดับที่ต่ำมากจนอาจจะทำให้วัคซีนของ J&J มีประสิทธิภาพไม่ถึง 50% ในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์ต่างๆ เหล่านั้น

ทั้งนี้ จากการศึกษาร่วมกับวัคซีนโควิดชนิดอื่นๆ นั้น คณะนักวิจัยเชื่อว่า การจะทำให้ระดับแอนติบอดีลบล้างฤทธิ์เพิ่มขึ้นในผู้ที่ฉีดวัคซีนของ J&J นั้น สามารถทำได้โดยการฉีดวัคซีนโดสที่สองด้วยวัคซีนของ J&J เอง หรือด้วยวัคซีนชนิด mRNA ของไฟเซอร์-บิออนเทค หรือของโมเดอร์นา

“ขณะที่การฉีดวัคซีนแบบโดสเดียวนั้นมีข้อดี แต่ประโยชน์ที่จะได้รับจากการฉีดวัคซีนโดสที่สองนั้นอาจจะคุ้มค่ามากกว่าความไม่สะดวกที่เกิดขึ้น” คณะนักวิจัยกล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ก.ค. 64)

Tags: , ,