พาณิชย์ เตรียมจับคู่เจรจาธุรกิจออนไลน์ไทย-ไห่หนาน ปลายปี 64 รุกตลาดจีน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้ลงนาม MOU ด้านการค้ากับมณฑลไห่หนาน ประเทศจีน เมื่อปลายเดือนส.ค. 64 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็น MOU ฉบับประวัติศาสตร์ และเป็นฉบับแรกที่ไทยทำกับระดับมณฑลของจีน ตามนโยบายการเร่งรัดการเจรจาการค้าภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ

โดยกระทรวงพาณิชย์มีแผนที่จะจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจระหว่างไทยกับไห่หนานในช่วงปลายปี 64 ในรูปแบบของการจับคู่เจรจาธุรกิจออนไลน์ หรือ Online Business Matching (OBM) และวิธีการส่งเฉพาะสินค้าตัวอย่างไปจัดแสดงในงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ หรือ Mirror & Mirror โดยจะเลือกโมเดลที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และก้าวข้ามขีดจำกัดในยุค New Normal

นอกจากนี้ในปี 65 ยังมีแผนกิจกรรมที่จะสร้างโอกาสในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนระหว่างกัน ทั้งการจัดงาน Top Thai Brand ไห่หนาน ซึ่งจะเป็นการยกทัพสินค้าแบรนด์ดังระดับโลกของไทยไปร่วมจัดแสดงในงาน Hainan Expo อีกครั้งเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมธุรกิจบริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งไทยมีโอกาสผลักดันทั้งสินค้าและบริการเชิงสุขภาพเข้าไปให้บริการในไห่หนาน เช่น การนวดแผนไทย, สปา, ผลิตภัณฑ์ด้านความงาม, ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย และการให้บริการสุขภาพแบบองค์รวม

ด้านนายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลจีนได้มีนโยบายและประกาศให้มณฑลไห่หนานเป็นเมืองท่าการค้าเสรีเชื่อมโยงประเทศที่อยู่ในแนวหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ยิ่งกระตุ้นให้ภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับมณฑลไห่หนานมากยิ่งขึ้น โดยในส่วนของประเทศไทย ได้เริ่มมีสินค้าไทยเข้าไปขยายตลาดในมณฑลไห่หนานแล้ว

สำหรับมูลค่าการค้าระหว่างไทยและไห่หนาน ในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.64) มีมูลค่ารวม 3,623 ล้านบาท โดยไทยส่งออกไปไห่หนาน 2,482 ล้านบาท และไทยนำเข้าจากไห่หนาน 1,142 ล้านบาท

“การลงนาม MOU เมื่อเดือนก่อน จะเป็นกลไกที่สำคัญในการส่งเสริมการค้าและการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันได้อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต และรองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ให้แนวทางไว้ว่าความร่วมมือที่เกิดขึ้นนี้ ถือเป็น Mini-FTA ฉบับแรกที่ไทยทำกับมณฑลในประเทศจีน ซึ่งเป็นนโยบายที่ให้ไว้กับกระทรวงพาณิชย์ว่าให้ทำความตกลงการค้าฉบับเล็ก หรือ Mini-FTA โดยทำกับรัฐต่างๆ ที่บางรัฐมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่า หรือมีจำนวนประชาชนมากกว่าประเทศไทย”

รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าว

ทั้งนี้ ไห่หนานเป็นตัวอย่างแรกที่เกิดขึ้นกับประเทศจีน และยังมีแผนที่จะเดินหน้าทำกับมณฑลอื่นๆ ของจีนเพิ่ม เช่น มณฑลกานชู ที่มีชาวมุสลิมอยู่มาก เพื่อเป็นลู่ทางในการส่งเสริมการค้าสินค้าฮาลาลของไทย รวมถึงมณฑลอื่นๆ ที่เห็นว่าเป็นโอกาส

ด้านน.ส.สุภาวดี แย้มกมล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาตลาดและธุรกิจไทยในต่างประเทศ 1 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า สำหรับเนื้อหาความร่วมมือตามแนวทางที่ รมว.พาณิชย์ ให้นโยบายไว้ ประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่ 1. ความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลและมาตรการสนับสนุน SMEs เช่น การลงทุน และการจัดตั้งตัวแทนการค้าร่วมกัน 2. ส่งเสริมเชื่อมโยงธุรกิจ เพื่อยกระดับความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมของ SMEs เช่น การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ พัฒนาสินค้า และขยายโอกาสสู่ตลาดที่สาม 3. อำนวยความสะดวกในกิจกรรมทางการค้า เข่น งานสัมมนา, งานแสดงสินค้า, จับคู่ธุรกิจ และคณะผู้แทนการค้า เป็นต้น 4. ด้านการมุ่งขยายมูลค่าการค้าใน 3 สินค้าหลัก ประกอบด้วย สินค้าทางด้านการเกษตร สินค้าอาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม และ 5. ส่งเสริมความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และจับคู่ธุรกิจออนไลน์

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ก.ย. 64)

Tags: , , , , , , ,