พาณิชย์ เผยวิกฤตโควิดฉุดยอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่ พ.ค.วูบ 7% จาก เม.ย.

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภาพรวมการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลในเดือน พ.ค.64 เทียบกับเดือน เม.ย.64 พบว่ามีการจดทะเบียนลดลง 7% เนื่องจากผู้ประกอบการยังคงติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และชะลอการตัดสินใจจัดตั้งออกไปก่อน เช่น ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร ธุรกิจบัญชีและการตรวจสอบบัญชี และ ธุรกิจออกแบบและตกแต่งภายใน

ทั้งนี้ ยอดจดทะเบียนธุรกิจจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศในเดือน พ.ค.64 มีจำนวน 5,568 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 21,513.71 ล้านบาท โดยธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไปจำนวน 551 ราย คิดเป็น 10% รองลงมา คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จำนวน 312 ราย คิดเป็น 6% และอันดับ 3 คือ ธุรกิจขนส่งและขนถ่ายสินค้ารวมถึงคนโดยสารจำนวน 181 ราย คิดเป็น 3%

“การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเดือน พ.ค.64 มีจำนวน 5,568 ราย เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าเพิ่มขึ้น 33% และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าลดลง 79% การลดลงของจำนวนการจดทะเบียนนิติบุคคลจัดตั้งใหม่ในเดือน พ.ค.อาจมีผลมาจากการระบาดระลอกสามของโควิด-19 ที่กระจายเป็นวงกว้าง และมีคลัสเตอร์ใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจลดลง โดยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือน พ.ค.64 ของธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ที่ 43 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าถึง 7% และใกล้เคียงกับช่วงการแพร่ระบาดอย่างหนักในปีก่อนหน้า” นายทศพล กล่าว

หากแบ่งตามช่วงทุน พบว่า ช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศมากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท มีจำนวน 4,142 ราย คิดเป็น 74.39% รองลงมาช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท จำนวน 1,332 ราย คิดเป็น 23.92% ลำดับถัดไป คือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท มีจำนวน 80 ราย คิดเป็น 1.44% และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 14 ราย คิดเป็น 0.25%

ธุรกิจที่มีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งเพิ่มขึ้นมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จัดตั้งเพิ่มขึ้น 140 ราย คิดเป็น 81.40% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า, ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหารจัดตั้งเพิ่มขึ้น 84 ราย คิดเป็น 1 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า, ธุรกิจการขนส่งและ ขนถ่ายสินค้า จัดตั้งเพิ่มขึ้น 53 ราย คิดเป็น 41% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า ธุรกิจก่อสร้างทั่วไปจัดตั้งเพิ่มขึ้น 49 ราย คิดเป็น 9% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า และธุรกิจกิจกรรมการสร้างแม่ข่ายจัดตั้งเพิ่มขึ้น 47 ราย คิดเป็น 47 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า

ขณะเดียวกันมีธุรกิจเลิกประกอบกิจการในเดือน พ.ค.64 มีจำนวน 792 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 2,322.75 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเลิกกิจการในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไปจำนวน 71 ราย คิดเป็น 9% รองลงมาคือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จำนวน 50 ราย คิดเป็น 6% และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหารจำนวน 27 ราย คิดเป็น 3%

หากแบ่งตามช่วงทุน พบว่า ช่วงทุนที่มีจำนวนรายธุรกิจเลิกประกอบกิจการทั่วประเทศมากที่สุด ได้แก่ ช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 575 ราย คิดเป็น 72.60% รองลงมาช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท จำนวน 180 ราย คิดเป็น 22.73% ลำดับถัดไป คือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 32 ราย คิดเป็น 4.04% และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท มีจำนวน 5 ราย คิดเป็น 0.63%

อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า นับถึงวันที่ 31 พ.ค.64 มีธุรกิจทั่วประเทศดำเนินกิจการอยู่ทั้งสิ้น 799,881 ราย มูลค่าทุน 19.54 ล้านล้านบาท จำแนกเป็น ห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 195,786 ราย คิดเป็น 24.48% บริษัทจำกัด จำนวน 602,801 ราย คิดเป็น 75.36% และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,294 ราย คิดเป็น 0.16%

หากแบ่งตามช่วงทุน พบว่า ธุรกิจส่วนใหญ่มีช่วงทุนไม่เกิน 1 ล้านบาท จำนวน 474,490 ราย คิดเป็น 59.32% รวมมูลค่าทุน 0.42 ล้านล้านบาท คิดเป็น 2.14% รองลงมา คือ ช่วงทุนมากกว่า 1-5 ล้านบาท จำนวน 235,627 ราย คิดเป็น 29.46% รวมมูลค่าทุน 0.78 ล้านล้านบาท คิดเป็น 3.99% ถัดไปคือ ช่วงทุนมากกว่า 5-100 ล้านบาท จำนวน 73,484 ราย คิดเป็น 9.19% รวมมูลค่าทุน 2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10.25% และช่วงทุนมากกว่า 100 ล้านบาท จำนวน 16,280 ราย คิดเป็น 2.03% รวมมูลค่าทุน 16.34 ล้านล้านบาท คิดเป็น 83.62%

อย่างไรก็ตาม จากมาตรการการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 นับตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.64 ที่มีจำนวนประชาชนผู้ได้รับวัคซีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการมีนโยบายในการเปิดพื้นที่ท่องเที่ยวในจังหวัดที่มีความพร้อมในเดือน ก.ค.เป็นต้นไป เช่น จังหวัดภูเก็ต และอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ

เช่น โครงการคนละครึ่งเฟส 3 โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ที่จะเริ่มต้นในเดือน ก.ค.รวมทั้งมาตราการช่วยเหลือผู้ประกอบการ เช่น มาตรการ “สินเชื่อ ฟื้นฟู” มาตรการ “พักทรัพย์ พักหนี้” ของธนาคารแห่งประเทศไทย โครงการ “จับคู่กู้เงิน สถาบันการเงินกับร้านอาหาร” ของกระทรวงพาณิชย์ ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ หรือเข้าถึงสถาบันการเงิน โดยมีดอกเบี้ยราคาพิเศษ และปลอดหลักทรัพย์ในบางกรณีน่าจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในครึ่งปีหลังฟื้นตัวขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 มิ.ย. 64)

Tags: , , ,