พาณิชย์ แนะผู้ส่งออกป้องกันผลกระทบจากมาตรการ AD ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา ประเทศกำลังพัฒนาใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Antidumping: AD) เพิ่มขึ้น และเป็นการใช้มาตรการระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันถึงเกือบ 80% นอกจากนี้ จากสถิติการไต่สวนการทุ่มตลาด และการใช้มาตรการ AD ของสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ระหว่างปี 2538 – 2563 พบว่า การเปิดไต่สวนการทุ่มตลาดเพิ่มขึ้นหลังจากปี 2561 โดยในปี 2563 มีการไต่สวน 349 ครั้ง เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า เมื่อเทียบกับปี 2538 และคาดว่าการใช้มาตรการ AD ของสมาชิก WTO หลังจากปี 2563 จะมีแนวโน้มสูงขึ้นตามจำนวนการไต่สวนที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ จีนเป็นประเทศที่ถูกไต่สวน และถูกใช้มาตรการ AD มากที่สุดใน WTO (ถูกไต่สวน 1,478 ครั้ง และถูกใช้มาตรการ AD 1,069 ครั้ง คิดเป็น 23.5% และ 26.26% ตามลำดับ) รองลงมา ได้แก่ เกาหลีใต้ และไต้หวัน ขณะที่ไทย อยู่อันดับที่ 6 (ถูกไต่สวน 250 ครั้ง และถูกใช้มาตรการ AD 167 ครั้ง) ส่วนอินเดียเป็นประเทศ ที่ใช้มาตรการ AD มากที่สุดใน WTO (718 ครั้ง คิดเป็น 17.64%) ตามด้วย สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป นอกจากนี้ อินเดียยังเป็นประเทศที่ใช้มาตรการ AD กับไทยมากที่สุด (จำนวน 39 ครั้ง) รองลงมา ได้แก่ สหภาพยุโรป และออสเตรเลีย

สำหรับสินค้าที่สมาชิก WTO เปิดไต่สวน และใช้มาตรการ AD มากที่สุด ได้แก่ เหล็ก เคมีภัณฑ์ เรซิน พลาสติก และยาง ในทำนองเดียวกัน เรซิน พลาสติก และยาง ก็เป็นกลุ่มสินค้าที่ไทยถูกไต่สวน และถูกใช้มาตรการ AD มากที่สุด

ในส่วนของไทย มีการเปิดไต่สวนการทุ่มตลาดแล้วรวม 97 ครั้ง อยู่อันดับที่ 17 ของ WTO และอันดับที่ 3 ของอาเซียน (รองจากอินโดนีเซีย และมาเลเซีย) และไทยใช้มาตรการ AD แล้ว 60 ครั้ง อยู่อันดับที่ 18 ของ WTO และอันดับที่ 3 ของอาเซียน (รองจากอินโดนีเซีย และมาเลเซีย) โดยประเทศที่ถูกไทยไต่สวนการทุ่มตลาด และใช้มาตรการ AD สูงสุด ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ และไต้หวัน

ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า เนื่องจากจำนวนการใช้มาตรการ AD ของสมาชิก WTO มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรปรับตัวในเชิงรุก เพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากการถูกประเทศคู่ค้าเก็บอากร AD ซึ่งจะทำให้สินค้าส่งออกของไทยมีราคาสูงขึ้น และส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันและการส่งออกของไทยไปยังประเทศนั้น ๆ ตลอดจนอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคการผลิตและการจ้างงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

สนค. จึงขอเสนอแนะแนวทางเชิงรุกสำหรับผู้ส่งออก เพื่อป้องกันการถูกเรียกเก็บอากร AD หรือลดโอกาสที่จะถูกเรียกเก็บอากร AD ในอัตราสูง โดยผู้ส่งออกสามารถดำเนินการ ดังนี้ (1) จัดทำระบบการบันทึกต้นทุนและราคาเป็นรายสินค้า สำหรับใช้ในการคำนวณมูลค่าปกติและราคาส่งออก (2) ทดลองตอบแบบสอบถามจำลอง เพื่อเตรียมความพร้อมในการส่งคำตอบแก่หน่วยงานไต่สวน (3) ปรับปรุงและทบทวนการบันทึกต้นทุน ราคา และรายการวัสดุให้เป็นปัจจุบันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อกำจัดส่วนต่างของราคาระหว่างตลาดได้ง่ายขึ้น

(4) ติดตามการเคลื่อนไหวของราคาและอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อตรวจสอบว่า ราคาส่งออกต่ำกว่าราคาขายในประเทศหรือไม่ อัตราแลกเปลี่ยนส่งผลให้ราคาส่งออกต่ำกว่าราคาขายในประเทศหรือไม่ และจะสามารถปรับราคาให้อยู่ในระดับเดียวกันได้อย่างไร (5) หลีกเลี่ยงการขายสินค้าส่งออกในราคาต่ำกว่าปกติ หรือการขายสินค้าในประเทศที่ราคาแพงกว่าปกติ เนื่องจากราคาที่ต่างกันมากจะมีผลต่อการคำนวณส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาด และ (6) ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานไต่สวนอย่างเต็มที่ เพื่อให้การคำนวณส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดมีความถูกต้อง และเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดในประเทศผู้นำเข้า

ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า มาตรการ AD เป็นมาตรการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ ที่ประเทศต่าง ๆ นิยมนำมาใช้มากที่สุด ซึ่งประเทศผู้ส่งออกไม่สามารถยับยั้งการเปิดไต่สวนการทุ่มตลาดของประเทศผู้นำเข้า ดังนั้น การหลีกเลี่ยงไม่ให้สินค้าไทยเข้าไปทุ่มตลาดในประเทศคู่ค้าตั้งแต่แรก จึงเป็นทางออกที่ดีกว่าการปกปิดข้อมูล หรือไม่ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานไต่สวนในต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าไทยโดนเก็บอากร AD ในอัตราสูงได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ต.ค. 64)

Tags: , , , , , , ,