ฟิทช์ คาดธุรกิจโทรคมนาคมไทยฟื้นตัวช้ากว่าคาดตามการบริโภคหดตัวจากผลโควิด

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่ารายได้ของผู้ประกอบการโทรคมนาคมไทยน่าจะมีการฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ เนื่องจากความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจ หลังจากการระบาดของโคโรน่าไวรัสระลอกที่ 3 ในประเทศไทย ฟิทช์คาดว่า สภาวะอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่ไม่มีการขยายตัวและการลงทุนในการก่อสร้างโครงข่าย 5G ที่อยู่ในระดับสูง น่าจะกดดันสถานะทางการเงินของผู้ประกอบการโทรคมนาคมไทย

ฟิทช์คาดว่ารายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยในปี 2564 จะอยู่ในระดับเดียวกับในปี 2563 ซึ่งอ่อนแอกว่าที่ฟิทช์เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโตในอัตรา 1-2% (ปี 2563: ลดลง 2.9%) รายได้ของอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ เริ่มคงที่ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 หลังจากที่หดตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 4 ไตรมาสที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามการระบาดระลอกใหม่ของโคโรน่าไวรัสซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงเดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา อาจทำให้อุตสาหกรรมกลับมาหดตัวอีกครั้งในไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการบริโภคภายในประเทศที่ลดลง

ฟิทช์เชื่อว่าผู้ประกอบการโทรคมนาคมจะชะลอการปรับเพิ่มค่าบริการจนกระทั่งสภาวะทางเศรฐกิจจะกลับมาฟื้นตัว เพื่อเลี่ยงการสูญเสียลูกค้า การฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 ขึ้นอยู่กับความเร็วและประสิทธิภาพในการกระจายการฉีดวัคซีน

การฟื้นตัวของเศรฐกิจไทยในช่วงปี 2564 และ 2565 หลังจากการแพร่ระบาดของโครไรน่าไวรัส น่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ฟิทช์ประมาณการการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ เพียง 2.9% ในปี 2564 และ 4.5% ในปี 2565 หลังจากที่หดตัว 6.1% ในปี 2563 เศรฐกิจไทยยังคงได้รับผลกระทบจากการที่ประเทศมีการพึ่งพิงภาคการท่องเที่ยวในระดับสูง ซึ่งต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว ปัจจัยดังกล่าวจะทำให้สภาวะในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการโทรคมนาคมไทยมีความท้าทายในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า

ฟิทช์คาดว่ากระแสเงินสดสุทธิของอุตสาหกรรม จะยังคงเป็นลบในปี 2564 ซึ่งสะท้อนแนวโน้มอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของฟิทช์ที่เป็นลบในปีนี้ ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน (รวมการชำระค่าคลื่นความถี่) ของผู้ประกอบการโทรคมนาคมไทย น่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 45% ของรายได้ในปี 2564 (ปี 2563: 45%) ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ในการขยายโครงข่าย 5G

อย่างไรก็ตามการใช้ประโยชน์จากบริการ 5G ไม่ได้มีความแตกต่างมากนักกับบริการ 4G ซึ่งอาจทำให้บริการ 5G ไม่สามารถทำให้รายได้ของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในระยะสั้นได้

กำไรที่มีแนวโน้มที่จะคงที่ ประกอบกับค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนและค่าใช้จ่ายในการชำระค่าคลื่นความถี่ที่อยู่ในระดับสูง น่าจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินของผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่สุดของไทย ซึ่งได้แก่ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ AIS (อันดับเครดิตที่ AA+(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) และผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่อันดับที่สาม ซึ่งได้แก่ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) (อันดับเครดิตที่ AA(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ปรับตัวสูงขึ้นในปี 2564

ฟิทช์คาดว่าผู้ประกอบการ ยังจะต้องมีจัดหาคลื่นความถี่เพิ่มเติม โดยเฉพาะคลื่น mid-band 3.5GHz เพื่อรองรับการขยายเครือข่าย 5G ถึงแม้ว่าการจัดสรรคลื่นความถี่ดังกล่าวยังคงมีความไม่แน่นอน เนื่องจากคลื่นดังกล่าวยังคงใช้ในกิจการสื่อสารผ่านดาวเทียม อย่างไรก็ตามฟิทช์คาดว่าผู้ประกอบการน่าจะมีความสามารถในการบริหารจัดการอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทได้ โดยการปรับลดค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนในระบบ 5G หรือปรับลดการจ่ายเงินปันผล หากความต้องการใช้งานต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้

ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO Net Leverage) ของ AIS และ DTAC จะปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ระดับ 1.3 และ 2.2 เท่า ตามลำดับ ในปี 2564 จาก 1 เท่า และ 2.1 เท่าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 อย่างไรก็ตาม AIS มีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิอยู่ในระดับต่ำทำให้บริษัทมีความสามารถในการรองรับการลงทุนที่เพิ่มขึ้นได้ ในขณะที่ Rating Headroom ที่ลดลงของ DTAC เมื่อเทียบกับระดับอัตราส่วนหนี้สินที่ฟิทช์อาจพิจารณาปรับลดอันดับเครดิตที่ 2.3 เท่า และกระแสเงินสดสุทธิก่อนเงินปันผลที่ติดลบ อาจทำให้ DTAC มีความคล่องตัวทางการเงินที่ลดลง สำหรับการลงทุนในคลื่นความถี่ใหม่ ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ฟิทช์เชื่อว่าการดำเนินนโยบายเพื่อการรักษาสถานะทางการเงิน ซึ่งรวมถึงการจ่ายเงินปันผลที่มีการปรับเปลี่ยนได้ตามสถานะการณ์ จะทำให้สถานะทางการเงินของบริษัทมีความแข็งแกร่ง เพียงพอในการรองรับการลงทุนที่เพิ่มขึ้นสำหรับคลื่นความถี่ใหม่ในอนาคต หากมีความจำเป็น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 พ.ค. 64)

Tags: , , , , , ,