ฟิทช์ เผยดีล PTT ซื้อกิจการเพิ่มอัตราส่วนหนี้สิน แต่ Rating Headroom ยังสูง

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในรายงานฉบับใหม่ว่า การเข้าซื้อกิจการ (Acquisition) ขนาดใหญ่ในธุรกิจขั้นปลาย (Downstream business) และธุรกิจขั้นต้น (Upstream business) ของ บมจ.ปตท. (PTT) (อันดับเครดิตที่ ‘BBB+(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ที่เพิ่งประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ จะเพิ่มอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทในปี 64 และลด Rating Headroom ของสถานะเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ของ ปตท.

อย่างไรก็ตาม Standalone Credit Profile ของ ปตท. ยังคงอยู่ที่ระดับ bbb+ และ Rating Headroom ของอันดับเครดิตสากลระยะยาวที่ BBB+(tha) ยังคงอยู่ในระดับสูงเนื่องจากการสนับสนุนจากภาครัฐฯ ที่แข็งแกร่ง

การเข้าซื้อกิจการช่วยเสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ครบวงจรของ ปตท. และการเข้าซื้อกิจการโดยบริษัทลูกของ ปตท.ในธุรกิจปิโตรเคมีและธุรกิจไฟฟ้า จะช่วยเพิ่มการกระจายการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคต่างๆ และความหลากหลายของธุรกิจ (Geographic and business diversification) ให้มากขึ้น ในขณะที่การเข้าซื้อกิจการในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้ช่วยเพิ่มขนาดของธุรกิจ และการกระจายตัวของแหล่งการผลิตและปริมาณสำรองปิโตรเลียมของบริษัทฯ

ฟิทช์คาดว่า ปตท. จะยังคงเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งในธุรกิจก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย แม้ว่าจะมีความท้าทายจากการแข่งขันในการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas) ที่จะเพิ่มมากขึ้น การที่ปตท. มีสัญญาการซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลวระยะยาวกับผู้ผลิตในต่างประเทศ และมีประวัติการดำเนินงานในการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวอยู่แล้ว รวมถึงการที่ ปตท. เป็นผู้ดำเนินการในธุรกิจขนส่งก๊าซธรรมชาติผ่านท่อแต่เพียงผู้เดียวในประเทศ น่าจะทำให้บริษัทฯ มีความได้เปรียบในการแข่งขัน

อันดับเครดิตของ ปตท.ยังคงเท่ากับอันดับเครดิตของประเทศไทย (BBB+ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ถ้า Standalone Credit Profile ของปตท. อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตของประเทศไทยไม่เกิน 3 อันดับ ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตองค์กรที่มีความสัมพันธ์กับภาครัฐฯ (Government-Related Entities Rating Criteria) ของฟิทช์ ฟิทช์ประเมินว่า ปตท. มีแนวโน้มที่จะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐฯ ที่สูง เนื่องจากปตท. มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์และเป็นตัวจักรสำคัญในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ และความมั่นคงทางพลังงานในประเทศไทย

อันดับเครดิตของ ปตท. ได้พิจารณารวมถึงความเสี่ยงในเรื่องการเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานในอนาคต (Energy transition) ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า โดยในการประมาณการของฟิทช์ ได้พิจารณาถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ต่อความต้องการใช้และราคาพลังงานที่ใช้อยู่ปัจจุบัน รวมถึงแผนการลงทุนของบริษัท ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า ฟิทช์มองว่าแผนในการเตรียมความพร้อมในการรองรับการเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานในอนาคตของ ปตท. น่าจะเป็นผลบวกต่อบริษัทฯ ในระยะยาว โดย ปตท. จะยังคงมุ่งเน้นในธุรกิจที่ยังคงมีความต้องการที่แข็งแกร่งอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงาน และจะค่อยๆ ลงทุนในธุรกิจพลังงานใหม่อย่างระมัดระวัง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ต.ค. 64)

Tags: , , , ,