มกอช. เดินหน้าแผนพัฒนาศักยภาพเกษตรกร-สร้างความเชื่อมั่นมาตรฐานการผลิต

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 65 มีแผนการดำเนินการจัดทำโครงการเพื่อยกระดับและพัฒนาศักยภาพกลุ่มเกษตรกรต้นแบบ โดยขยายผลเพิ่มเติมไปยังกลุ่มเป้าหมายที่กำลังดำเนินการต่อเนื่องในสินค้าข้าว ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวสินเหล็ก และข้าวอินทรีย์ จังหวัดอำนาจเจริญ และกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด และสุรินทร์ รวมทั้งสินค้าทุเรียน ในกลุ่มผู้ปลูกทุเรียนป่าละอู จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และกลุ่มผู้ปลูกทุเรียนภูเขาไฟ จังหวัดศรีสะเกษ

“ในปี 65 มีแผนการดำเนินการพัฒนาศักยภาพเกษตรกร ให้มีการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานการผลิต (GAP, Organic) ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรมีการใช้ระบบตามสอบย้อนกลับ ในสินค้าเกษตรบนระบบคลาวด์ (QR Traces on Cloud) รวมทั้งเชื่อมโยงข้อมูลเกษตรกรที่ได้รับ GI ในระบบตามสอบย้อนกลับ และส่งเสริมให้เกษตรกรเตรียมความพร้อมในการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพ เพื่อยื่นขอใช้เครื่องหมาย GI”

นายพิศาล กล่าว

พร้อมกันนี้ จะมีการผลิตสื่อวีดิทัศน์ถ่ายทอดเรื่องราวความสำเร็จในสินค้าเกษตร (Success Case) และส่งเสริมช่องทางการตลาดสำหรับสินค้าเกษตรที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน และมีการใช้ระบบตามสอบย้อนกลับในสินค้าเกษตรทั้งช่องทางออฟไลน์และช่องทางออนไลน์ อาทิ การเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มกลาง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” บนแพลตฟอร์ม Thaitrade.com ของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีแพลตฟอร์ม Phenixbox.com ของบมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) ซึ่งได้เชื่อมโยงช่องทางเป็นศูนย์กลางการค้าสินค้าเกษตรไทยไว้บนหน้าเฉพาะ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” บนเว็บไซต์ Moc.go.th รวมถึงเว็บไซต์ DGTFarm.com ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ มกอช. พัฒนาขึ้น

เลขาธิการ มกอช. กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กำหนดวิสัยทัศน์ “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ภายใต้ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต เพื่อพัฒนาภาคการเกษตรไทยไปสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตร และอาหารคุณภาพของโลก โดยคณะกรรมการร่วมเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2563 มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต ภายใต้คณะกรรมการร่วมเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิต 4 คณะ ประกอบด้วย

1. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสร้างและใช้ข้อมูลจากฐานเดียวกัน (Single Big Data) 2. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสร้างแพลตฟอร์มกลาง “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” 3. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพ มาตรฐาน ความปลอดภัย และการตรวจสอบย้อนกลับ และ 4. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาคน และผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด

ในส่วนของ มกอช. ได้รับการแต่งตั้งให้อยู่ในคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพ มาตรฐาน ความปลอดภัย และการตรวจสอบย้อนกลับ โดยมีเลขาธิการ มกอช. และอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานอนุกรรมการร่วม และมีผู้อำนวยการกองส่งเสริมมาตรฐาน มกอช. และผู้อำนวยการกองมาตรฐานสินค้านำเข้าส่งออก กรมการค้าต่างประเทศ เป็นฝ่ายเลขานุการร่วม

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพฯ ได้มีการประชุมหารือร่วมกันและเห็นชอบการขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรด้านคุณภาพ มาตรฐาน ความปลอดภัย และการตรวจสอบย้อนกลับในสินค้านำร่อง 2 ชนิด ได้แก่ ข้าว และทุเรียน โดยมุ่งเน้นการผลักดันสินค้าเกษตรที่มีมาตรฐานให้มีมูลค่าสูง โดยการพัฒนาและเชื่อมโยงเกษตรกรที่ได้มาตรฐานการผลิต (GAP, Organic) และมาตรฐานสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ไปใช้

นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการส่งเสริมการนำระบบตามสอบย้อนกลับในสินค้าเกษตรบนระบบคลาวด์ (QR Traces on Cloud) ไปใช้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และส่งเสริมการเชื่อมโยงสินค้ามาตรฐานกับตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ สำหรับในปีงบประมาณ 64 มีผลการดำเนินงาน ได้แก่

1. การคัดเลือกกลุ่มเกษตรกรที่ได้มาตรฐาน GAP หรือ Organic และมาตรฐาน GI สำหรับสินค้านำร่องข้าวและทุเรียน ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ (GAP) ทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดสุรินทร์ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ จังหวัดอำนาจเจริญ และกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนภูเขาไฟ จังหวัดศรีสะเกษ

2. การอบรมระบบตามสอบย้อนกลับในสินค้าเกษตร (QR Traces on Cloud) ให้ความรู้แก่เกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกร จำนวน 192 ราย แบ่งออกเป็น สินค้าข้าว จำนวน 94 ราย และทุเรียน จำนวน 98 ราย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคถึงแหล่งที่มาของสินค้าเกษตรที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน

3. การผลิตสื่อวิดีทัศน์ เรื่อง สินค้าเกษตรกับความเชื่อมั่นด้านคุณภาพ มาตรฐาน ความปลอดภัย และการตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อสร้างการรับรู้ด้านมาตรฐานสินค้าเกษตรให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ที่สนใจสามารถนำไปปฏิบัติใช้ได้อย่างถูกต้อง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ม.ค. 65)

Tags: , , , , ,