มิซูโฮเผยเงินบาทปรับตัวแย่สุดในเอเชียปีนี้ จากผลกระทบโควิด-ท่องเที่ยวซบ

ธนาคารมิซูโฮของญี่ปุ่นแสดงความเห็นว่า เงินบาทของไทยซึ่งเคยเป็นสกุลเงินที่แข็งแกร่งที่สุดในเอเชียก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น ได้อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องในปีนี้ จนทำให้เงินบาทกลายเป็นสกุลเงินที่ปรับตัวย่ำแย่ที่สุดของเอเชียในปี 2564

ข้อมูลจาก Refinitiv Eikon ระบุว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2564 เงินบาททรุดตัวลงกว่า 10% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เงินบาทกลายเป็นสกุลเงินที่อ่อนแอที่สุดในปีนี้เมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศอื่นๆ ในเอเชียแปซิฟิก ขณะที่เงินเยนอ่อนค่าลงเกือบ 7%, ริงกิตอ่อนค่าลง 5% และดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลง 4.43%

นายวิษณุ วาราธัน หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจและกลยุทธ์ของธนาคารมิซูโฮแสดงความเห็นว่า การทรุดตัวลงอย่างมีนัยสำคัญของเงินบาทนั้น ไม่สอดคล้องกับการที่ไทยมียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่แข็งแกร่งและมีเงินเฟ้อที่ค่อนข้างต่ำ

ในปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนที่โรคโควิด-19 จะแพร่ระบาดนั้น หลายฝ่ายต่างก็กังวลเกี่ยวกับการแข็งค่าของเงินบาทซึ่งเป็นผลมาจากการที่ไทยมียอดเกินดุลการค้าที่สูงมาก โดยเมื่อเงินบาทแข็งค่า จะทำให้สินค้าส่งออกของไทยแพงขึ้น และมีความน่าดึงดูดน้อยลงในตลาดต่างประเทศ

นายวาราธันยังกล่าวด้วยว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ได้ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงเพียงสกุลเงินเดียวในปีนี้ แต่ยังรวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย โดยเป็นผลกระทบจากการที่ไวรัสสายพันธุ์เดลตาแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในภูมิภาคแห่งนี้

นอกจากนี้ นายวาราธันกล่าวว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ชะลอตัวลงอย่างรุนแรงยังเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย โดยไทยมีแผนการที่จะเปิดเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบภายในเดือนต.ค.ปีนี้ แต่เขาคาดว่านั่นเป็นการมองสถานการณ์ในเชิงบวกมากเกินไป และคาดว่าไทยอาจจะยังไม่สามารถเปิดเศรษฐกิจได้ในช่วงเวลาดังกล่าว

ข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่า ไทยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศเพียง 34,000 คนเมื่อนับถึงเดือนพ.ค.ปีนี้ เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งมีนักท่องเที่ยวมากกว่า 39 ล้านคน โดยไทยพึ่งพาอย่างมากกับรายได้สกุลเงินดอลลาร์ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัว ซึ่งการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวนั้นคิดเป็นสัดส่วนราว 11% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปี 2562 ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

“ยิ่งนักท่องเที่ยวน้อย ความต้องการเงินบาทก็น้อยลงด้วย นอกจากนี้ ความเสี่ยงของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ และความล่าช้าในการฟื้นฟูการท่องเที่ยวและการเดินทาง จะส่งผลกระทบต่อเงินบาทด้วย”

นายวาราธัน กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ก.ค. 64)

Tags: , , , , , , , ,