มูดี้ส์เตือนเอเชียเร่งคุมโควิดเตรียมรับมือเฟดขึ้นดบ. ชี้ไทยไร้ประสิทธิภาพ-ฉีดวัคซีนล่าช้า

นายสตีฟ โคเครน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกของบริษัทมูดี้ส์ อนาไลติกส์เตือนว่า ประเทศเอเชียจำเป็นต้องควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้ได้ เพื่อเตรียมเศรษฐกิจให้มีความพร้อมที่จะรับมือกับการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

“ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียจำเป็นต้องควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้ได้ เพราะเมื่อเฟดเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ประเทศเอเชียจะได้อยู่ในสถานะที่มีความพร้อม และสามารถจัดการกับภาวะเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านได้”

นายโคเครนกล่าวให้สัมภาษณ์กับรายการ “Squawk Box Asia” ของสถานีโทรทัศน์ CNBC

นายโคเครนคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในทุกๆ ไตรมาสของปี 2566 ซึ่งมากกว่าที่รายงาน dot-plot ของเฟดระบุว่า กรรมการเฟด 13 คนจาก 18 คนคาดว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้งในปีดังกล่าว

ทั้งนี้ หลายประเทศในเอเชียซึ่งรวมถึงญี่ปุ่น, ไต้หวัน และมาเลเซียกำลังเผชิญกับจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่กลับมาพุ่งขึ้นอีกครั้งเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งผลักดันให้ทางรัฐบาลต้องออกมาตรการเว้นระยะห่างที่มีความเข้มงวดมากขึ้น โดยการแพร่ระบาดรอบใหม่นี้เกิดขึ้นเนื่องจากการฉีดวัคซีนในประเทศเอเชียมีความล้าหลังเมื่อเทียบกับสหรัฐและในยุโรป

นายโคเครนกล่าวว่า หลายประเทศเช่นจีน, เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ต่างก็เร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด อย่างไรก็ดี มีอีกหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงไทย, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ที่ไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่มีโครงการฉีดวัคซีนที่แข็งแกร่งเพียงพอ

ในการประชุมเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ส่งสัญญาณว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจเกิดขึ้นในปี 2566 ซึ่งเร็วกว่าเดิมที่ได้ส่งสัญญาณในเดือนมี.ค.ว่า เฟดจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2567 นอกจากนี้ เฟดยังคาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 ครั้งในปี 2566

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐจะช่วยดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ และธนาคารกลางในประเทศอื่นๆ อาจจำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยในประเทศตนเองเพื่อป้องกันเม็ดเงินไหลออก ทั้งนี้ แม้ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะช่วยป้องกันไม่ให้กระแสเงินทุนไหลออกจากประเทศมากเกินไป แต่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไปก็เพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 มิ.ย. 64)

Tags: , , , , , ,