ม็อบหลายกลุ่มนัดรวมตัว 7 ส.ค. ตร.จัดกำลัง 38 กองร้อยรับมือ ตั้ง 14 จุดสกัด

พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) ในฐานะโฆษกบช.น. แจ้งว่า ตามที่มีการนัดชุมนุมผ่านช่องทางออนไลน์ของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ในวันที่ 7 ส.ค.64 ตามสถานที่ต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้แก่

  1. กลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free Youth) นัดรวมตัวกันในช่วงเวลา 13.00-14.00 น.ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จากนั้นเคลื่อนขบวนไปพระบรมหาราชวัง และจะมีกลุ่มแนวร่วมต่างๆ มาสมทบ เช่น กลุ่มการ์ดวีโว่, กลุ่มราษฎร ฯลฯ
  2. กลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยนายธนเดช หรือม่อน ศรีสงคราม นัดรวมตัวยังไม่ทราบเวลาที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ จัดกิจกรรมในลักษณะคาร์ม็อบ 2 ล้อ จากนั้นเคลื่อนขบวนไปทำเนียบรัฐบาล
  3. กลุ่มแดงก้าวหน้า 63, แดงใหม่ภาคี 4 ภาค, ราษฎรลพบุรี-สระบุรี-นครนายก และอื่นๆ นัดรวมจัดกิจกรรมคาร์ม็อบบุกกรุง โดยมีจุดหมายที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

กรณีดังกล่าวเป็นการกระทำผิดตามประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เรื่อง การห้ามชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ฉบับที่ 9 ลงวันที่ 3 ส.ค.64 ข้อ 3 ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ในพื้นที่ที่มีประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดฯ เว้นแต่เป็นกิจกรรมได้รับอนุญาตหรือได้รับการยกเว้น

นอกจากนี้ยังเป็นการฝ่าฝืนอันเป็นความผิดตามประกาศฯ และเข้าข่ายเป็นความผิดตาม 1.พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2.พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ 3.พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ 4.พ.ร.บ.ความสะอาดฯ 5.พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ อีกทั้งยังมีความผิดอื่นๆ ที่อาจเกี่ยวข้อง คือมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง, เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิกไปแล้วไม่เลิก, การวางเพลิงเผาทรัพย์, ทำลายทรัพย์สินทางราชการ, ต่อสู้ขัดขวางพนักงานเจ้าหน้าที่, บุกรุกในสถานที่ต่างๆ ตามพฤติการณ์ของการกระทำความผิดเป็นรายๆไป

รองผบช.น. กล่าวว่า ได้เตรียมกำลังเอาไว้ 38 กองร้อย สำหรับการรับมือตลอดเส้นทางการเคลื่อนขบวน พร้อมปรับแผนเข้าสกัดกั้นเส้นทาง แต่ในเบื้องต้นตั้งแนวตั้งรับ 2 จุดใหญ่ คือบริเวณแยกพาณิชยการ หน้าทำเนียบรัฐบาล และหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้จะมีการตั้งจุดตรวจ 14 จุดในเส้นทางที่จะเข้ามาชุมนุมเพื่อตรวจค้นอาวุธและป้องกันบุคคลที่ 3 ก่อความวุ่นวาย โดยจากการข่าว อาจจะมีการกระทบกระทั่งอย่างรุนแรง

โดยขณะนี้ได้มีการดำเนินคดีกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ ในภาพรวม ของ บช.น.ที่ผ่านมาทั้งหมดรวมทั้งสิ้น 293 คดี อยู่ระหว่างสอบสวน 97 คดี ส่งสำนวนให้อัยการหรือสอบสวนดำเนินคดีแล้ว 196 คดี ซึ่ง บช.น.ได้สั่งการให้ทุก สน.ที่เกี่ยวข้องเร่งรัดติดตามผู้กระทำผิดที่สร้างความเดือนร้อนวุ่นวายในบ้านเมืองมาดำเนินคดีทุกราย และหากกลุ่มผู้ชุมนุมมีการใช้ความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจก็จำเป็นที่จะต้องเข้าควบคุมสถานการณ์เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ลุกลามบานปลายต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ส.ค. 64)

Tags: , , , ,