ยอดค้าชายแดน-ผ่านแดน พ.ค.โต 38% แตะ 1.5 แสนลบ. ศก.โลกเริ่มฟื้น

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า มูลค่าการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนเดือนพฤษภาคม 2564 มีมูลค่าสูงถึง 150,858 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 38.38% และเมื่อแยกการค้าชายแดนกับการค้าผ่านแดนออกจากกัน การค้าชายแดน มีมูลค่า 75,659 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.13% ส่วนการค้าผ่านแดน มีมูลค่า 75,199 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.45%

ขณะที่ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-พฤษภาคม) การค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน มีมูลค่า 677,078 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 29.15% โดยการค้าชายแดน 5 เดือน มีมูลค่า 371,040 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.85% ส่วนการค้าผ่าน 5 เดือน มีมูลค่า 306,038 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42.57%

สำหัรบการค้าชายแดนแยกเป็นรายประเทศ ดังนี้ มาเลเซีย มูลค่า 134,474 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 53.00% ลาว 87,369 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.30% เมียนมา 78,833 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.9% กัมพูชา 70,364 ล้านบาท ลดลง 0.68% ส่วนการค้าผ่านแดนไป จีนมีมูลค่า 140,406 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54.85% สิงคโปร์ 46,478 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.74% และเวียดนาม 28,586 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.73%

รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ กล่าวว่า การค้าชายแดนและผ่านแดนที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น มีปัจจัยสำคัญจากเศรษฐกิจเพื่อนบ้านและทั่วโลกเริ่มฟื้นตัว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ และความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่จะทำให้การเปิดเมืองและการกลับมาของกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีได้มากขึ้น และจากการที่กระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายกรมการค้าต่างประเทศเร่งผลักดันยอดการค้าชายแดน ซึ่งเป็น 1 ใน 14 แผนงานหลักของกระทรวงฯ ปี 2564 ให้เน้นการทำงานเชิงรุก

“เหตุผลสำคัญที่ทำให้การค้าเป็นบวกคือ ประการที่หนึ่ง เนื่องจากการจับมือทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชนในรูป กรอ.พาณิชย์ สามารถดำเนินการร่วมกันในการเร่งรัดการเปิดด่านจาก 97 ด่านที่ปิดไป สามารถที่จะเปิดด่านได้ถึง 46 ด่าน ขณะเดียวกัน ได้เร่งรัดดำเนินการแก้ไขปัญหาแบบเชิงรุก เพื่อให้สินค้าที่จะข้ามแดนแต่ละประเทศ สามารถผ่านไปได้โดยสะดวกรวดเร็วขึ้น ประการที่สอง เศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านเริ่มฟื้นตัว”

นายจุรินทร์ ระบุ

อย่างไรก็ดี เพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และผลักดันการส่งออกผ่านการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน คือ

  1. จะเร่งเปิดด่านค้าชายแดน ซึ่งขณะนี้มีเป้าหมาย 11 ด่าน โดยจะให้เปิดได้เร็วที่สุด แต่ทั้งนี้ ยังอยู่ภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุขเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด
  2. จับมือกับภาคเอกชนในนาม กรอ.พาณิชย์ ขจัดปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับการส่งออกเชิงรุกโดยเร็ว
  3. กำหนดกิจกรรมช่วยเหลือผู้ส่งออกรายย่อย โดยเฉพาะเอสเอ็มอีหรือไมโครเอสเอ็มอีเอส ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนหรือแหล่งเงินกู้ที่จำ ในโครงการ “จับคู่กู้เงิน สถาบันการเงินกับเอสเอ็มอีส่งออก”

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 มิ.ย. 64)

Tags: , , , , ,