รฟท.เปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ-สถานีรถไฟสีแดง พ.ค.65

นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง ผู้ช่วยผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.ที่มีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบกเป็นประธาน คาดว่า รฟท.จะออกประกาศเชิญชวนเอกชนเสนอผลตอบแทนการใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อประกอบกิจการเชิงพาณิชย์และติดตั้งป้ายโฆษณา บริเวณอาคารสถานีกลางบางซื่อ และสถานีรถไฟชานเมืองสายสีแดง 12 สถานี ได้ในเดือนพ.ค. 65 และให้ยื่นข้อเสนอกลางเดือนมิ.ย. 2565 พิจารณาตัดสินประกาศผลผู้ได้รับการคัดเลือกประมาณเดือนพ.ย. 65 เริ่มเข้าพื้นที่ตั้งแต่ปลายปี 65

ทั้งนี้รฟท.จะเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอแบ่งเป็น 4 สัญญา ประกอบด้วย คือ

1.สัญญาพัฒนาเชิงพาณิชย์ สถานีกลางบางซื่อ พื้นที่ 47,675 ตารางเมตร

2.สัญญาพัฒนาพื้นที่โฆษณา สถานีกลางบางซื่อ 2,303 ตารางเมตร โดยทั้ง 2 สัญญาของสถานีกลางบางซื่อมีระยะเวลาสัญญา 20 ปี

3.การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ 12 สถานีของรถไฟสายสีแดง พื้นที่ประมาณ 3,700 ตารางเมตร และ

4.พื้นที่ติดตั้งป้ายโฆษณาสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง 12 สถานี ประมาณ 2,000 ตารางเมตร โดยสัญญาของ 12 สถานี สายสีแดง จะกำหนดระยะเวลา 3 ปี เนื่องจากจะนำไปรวมอยู่ในการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) บริหารการเดินรถไฟสายสีแดง เพราะมีความคุ้มค่าและจูงใจมากกว่า จึงกำหนดระยะสัญญา 3 ปีเพื่อให้สอดคล้องกับ PPP สายสีแดง

ทั้งนี้ รฟท.ประเมิน การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์และโฆษณาสถานีกลางบางซื่อ มีรายได้ขั้นต่อประมาณ 360 ล้านบาทต่อปี หรือ ตลอดอายุสัญญา 20 ปีมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 7,000 ล้านบาท

สำหรับขนาดพื้นที่เชิงพาณิชย์ สถานีกลางบางซื่อจากเดิม 52,375 ตารางเมตร เหลือ 47,675 ตารางเมตร มีการปรับลดพื้นที่ 4,700 ตารางเมตร ซึ่งเป็นโซนรถไฟความเร็วสูง ส่วนพื้นที่ผู้โดยสารพักคอยหลังจากผ่านการชำระตั๋วเข้ามาแล้วเตรียมขึ้นชั้นชานชาลา ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นศูนย์ฉีดวัคซีนกลาง ซึ่งตามแผนคาดว่าจะขยายออกไปจากกำหนดเดือนมิ.ย. 2565 อีกระยะหนึ่ง อีกทั้ง งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (สัญญา 2.3) จะเข้าติดตั้งระบบ

ทั้งนี้ TOR การพื้นที่เชิงพาณิชย์ สถานีกลางบางซื่อ กำหนดผลตอบแทนขั้นต่ำ (Minimum Guarantee) เป็นค่าเช่าพื้นที่ 500 บาท/ตารางเมตร บวกกับค่าบริการใช้ไฟฟ้าร่วม 150 บาท การพิจารณาใช้เกณฑ์ข้อเสนอด้านเทคนิค 80 คะแนน บวกกับข้อเสนอด้านราคา 20 คะแนน โดยผู้เสนอผลตอบแทนที่ดีกว่า มีแผนการพัฒนาด้านธุรกิจที่ดีกว่าจะได้รับการคัดเลือก เพราะเป้าหมายการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อให้ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่เสนอผลตอบแทนสูงอย่างเดียว แต่จะต้องมีเทคนิคมีแผนพัฒนาเชิงพาณิชย์ที่มีการใช้พื้นที่เกิดประโยชน์สูงสุด

โดยกำหนดเงื่อนไขพื้นฐานพื้นที่บริการ 4 ด้าน 1. พื้นที่ศูนย์อาหารประมาณ 780 ตารางเมตร 2. พื้นที่กิจกรรมการเงิน สำหรับธนาคารกรุงไทย 120 ตารางเมตร 3. พื้นที่สินค้าโอทอป (พื้นที่ไม่คิดค่าเช่า เพื่อช่วยสร้างรายได้ให้ประชาชน ) 600 ตารางเมตร 4. พื้นที่บริการตู้เก็บสัมภาระ (ตามความเหมาะสมทางธุรกิจ) ขณะที่เอกชนสามารถเสนอแผนการพัฒนากิจกรรมอื่นๆ เช่น ร้านค้าแบรนด์เนม หรือบริการโรงแรมแคปซูล เป็นต้น ขณะที่ควบคุมอัตราค่าอาหาร บริการ อ้างอิงราคาเฉลี่ยของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่

ส่วนแผนการพัฒนาส่งมอบพื้นที่แบ่งเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรก ระยะ 3 ปี (66-68) เน้นบริการรถไฟชานเมือง ปีที่ 1 ส่งมอบ 10,687 ตารางเมตร ปีที่ 2 ประมาณ 7,600 ตารางเมตร ปีที่ 3 ประมาณ 7,600 ตารางเมตร ส่วนเฟส 2 บริเวณชั้น 3 พื้นที่ 21,600 ตารางเมตร สำหรับบริการรถไฟความเร็วสูง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มในปี 69

“ผู้โดยสารรถไฟสายสีแดง ล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 10,000 คน/วัน งานสัปดาห์หนังสือที่สถานีกลางบางซื่อ ช่วยเพิ่มจำนวนผู้โดยสารขึ้นประมาณ 15% หรือประมาณ 1,500 คน/วัน ซึ่งรฟท.พยายาม จัดอีเว้นท์ ที่จะเกิดการกระตุ้นการเดินทางขณะที่ ศักยภาพพื้นที่โดยรอบสถานีกลางบางซื่อในอนาคตจะช่วยเพิ่มรายได้ และเกิดความคุ้มค่ามากขึ้น ในระยะยาว โดยคาดว่าจะมีผู้ประกอบการที่เป็นมืออาชีพ ด้านค้าปลีก ศูนย์การค้าสนใจ ร่วมประมูล ซึ่งรฟท.เปิดกว้าง โดยที่ผ่านมา กลุ่มเซ็นทรัลฯ ได้แสดงความสนใจสอบถามข้อมูล”

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 มี.ค. 65)

Tags: , , , ,