รฟม.โล่งหลังศาลปกครองสูงสุดยกฟ้องคดีรถไฟฟ้าสายสีส้มเดินหน้าประมูล ต.ค.นี้

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการ รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ว่า ในวันนี้ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นที่มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของเอกชนที่อุทธรณ์ไม่ให้ รฟม. และ คณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 เปิดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มรอบใหม่

ศาลฯ ให้เหตุผลว่า การดำเนินการคัดเลือกเอกชนเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายปกครองตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ศาลฯ จึงไม่อาจมีคำสั่งกำหนดคำบังคับตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ให้คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 และ รฟม. กระทำการหรืองดเว้นกระทำการที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นได้

“คดีความ (ศาลปกครอง) สิ้นสุดแล้ว ไม่จำเป็นต้องรอคดีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เรายืนยันการดำเนินการของรฟม.เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด”นายภคพงศ์ กล่าว

อย่างไรก็ดี ยังมีคดีที่อยู่ระหว่างศาลเกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม สรุปได้ว่าปัจจุบันมีการฟ้องคดีรวมจำนวน 3 คดี โดย 2 คดีอยู่ในศาลปกครอง ซึ่งเป็นการฟ้องร้องการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งแรกล้มประมูลโดยมิชอบ และคดีที่เอกชนเรียกร้องค่าเสียหาย ชดใช้วงเงิน 5 แสนบาทที่ รฟม.ละเมิดทำให้เสียหาย ส่วนอีกคดีอยู่ในศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลางที่ฟ้อง รฟม.และ คณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 จัดประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มโดยไม่ชอบ

นายภคพงศ์ กล่าวว่าหลังจากนี้ รฟม.เดินหน้าจัดประมูลคัดเลือกเอกชนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม รฟม.จะนำร่างทีโออาร์ให้คณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 พิจารณา คาดว่าจะประกาศทีโออาร์ได้ภายในเดือน ก.ค.-ต.ค.64 และเชิญชวนเอกชนเข้าประมูลในเดือน ต.ค.นี้ หลังจากนั้นจะให้เวลาจัดทำข้อเสนอระยะเวลา 90 วัน และยื่นข้อเสนอ โดยจะใช้ระยะเวลาประเมินข้อเสนอและเจรจาต่อรองกับเอกชนประมาณ 3 เดือน และจะเสนอผลการคัดเลือกเอกชนดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือน เม.ย.65 และแผนเบื้องต้นจะเปิดบริการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกในช่วงต้นปี 68 และเปิดบริการทั้งสายในไตรมาส 3/70

อย่างไรก็ดี ผู้ว่า รฟม.กล่าวว่า เกณฑ์การพิจารณาจะใช้ทั้งคะแนนด้านเทคนิคและด้านราคาหรือไม่ คงต้องรอการพิจารณาทีโออาร์เสียก่อน โดยการประมูลครั้งก่อนหน้านี้คณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 ได้เปลี่ยนเกณฑ์มาใช้คะแนนด้านเทคนิค 30% และใช้คะแนนด้านราคา 70%

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร แบ่งเป็นส่วนตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) และส่วนตะวันตก (ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.ย. 64)

Tags: , , ,