รมว.คมนาคม เร่งเคลียร์ปมสร้างอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ รองรับเปิดประเทศ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิว่า ตามนโยบายการเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย. 2564 ของรัฐบาลประกอบกับหลายประเทศมีมาตรการในการเปิดประเทศ เช่น ประเทศออสเตรเลีย ให้ฉีดวัคซีนครบ 2 โดส เดินทางได้โดยไม่ต้องกักตัว ทำให้เชื่อว่าการฟื้นตัวของผู้โดยสารทางอากาศ จะกลับมา (Turnaround) อย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด จากที่เดิมมีการศึกษาว่าปริมาณผู้โดยสารจะฟื้นตัวกลับมา เท่ากับปี 2562 (ก่อนเกิดโควิด-19) ภายใน 2 ปีนั้น อาจจะกลับมาเร็วขึ้นหรือภายในปี 2565 ผู้โดยสารอาจจะกลับไปเกือบเท่าปี 2562 ได้เนื่องจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีการชะลอตัวทั้งนักลงทุน นักเดินทางนักท่องเที่ยว ดังนั้นเมื่อเปิดให้เดินทางได้ เชื่อว่าอัตราเร่งการเดินทางจะสูงมาก

นอกจากนี้ ในการรองรับการเปิดประเทศ จะต้องเตรียมพร้อมระบบโลจิสติกส์การขนส่งต่างๆ ที่เชื่อมต่อกับสนามบินทุกแห่งอย่างเป็นระบบ เพื่อให้การเดินทางของนักท่องเที่ยวที่เข้ามายังประเทศไทย สามารถออกจากสนามบินไปยังไปยังจุดหมาย และแหล่งท่องเที่ยวอย่างสะดวก โดยทุกส่วนจะต้องมีแผนบูรณาการร่วมกัน

โดยหลักการของทอท.จะดำเนินการ 3 โครงการคือ อาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือ ส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลัก หลังที่ 1 ด้านทิศตะวันออก (East Expansion) และส่วนต่อขยายทิศตะวันตก (West Expansion) และก่อนหน้านี้ ทางเลขาธิการสภาพัฒน์ ได้ระบุว่า ไม่ได้ขัดข้องกรณีการก่อสร้างอาคารส่วนต่อขยายด้านทิศเหนืออีกด้วย

ซึ่งทอท.เคยชี้แจง ว่า อาคารผู้โดยสารหลัก มีขีดความสามารถรองรับได้ 45 ล้านคน/ปี อาคารเทียบเครื่องบินรองหลักที่ 1 (SAT-1) รองรับได้ 15 ล้านคน/ปี ทำให้ขีดความสามารรถรวมเป็น 60 ล้านคน/ปี แต่ขณะนี้ สนามบินสุวรรณภูมิอยู่ระหว่างขยายทางวิ่ง (รันเวย์) เส้นที่ 3 ซึ่งจะทำให้ขีดความสามารถของรันเวย์ รองรับได้ที่ 90 ล้านคน/ปี ไม่สมดุลกับขีดความสามารถของอาคารผู้โดยสาร แล้ววันนี้ยังไม่ทำส่วนต่อขยายด้านเหนือ ด้านตะวันออก ด้านตะวันตก ประกอบกับต้องปรับการให้บริการเป็นแบบ New Normal จะยิ่งมีปัญหา

ทั้งนี้ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือ กพท. ได้รายงานถึงจำนวนผู้โดยสารทางอากาศว่า ในช่วงปี 2563-2564 ที่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้เที่ยวบินและการเดินทางโดยเครื่องบินลดลง อย่างรุนแรงในรอบ 10 ปี โดยปี 2563 มีผู้โดยสารเหลือ 58.25 ล้านคน หรือลดลง 64.7% โดยผู้โดยสารระหว่างประเทศลดลงถึง 81% อย่างไรก็ตาม นโยบายเปิดประเทศนำร่อง “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์”ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศเพิ่มขึ้น จำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศฟื้นตัวกลับมาอยู่ในหลักแสนคนในรอบหลายเดือน

นอกจากนี้ได้ มีการคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีขนาดการบินใหญ่เป็นอันดับ 9 ของโลก ในปีค.ศ. 2031 โดยคาดการณ์ว่า จะมีจำนวนผู้โดยสารทางอากาศถึง 213 ล้านคน ซึ่งกพท.จะมีการศึกษาวางแผนงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมพร้อมโดยเฉพาะการจัดการห้วงอากาศ เนื่องจากประเทศไทยมีขนาดใหญ่กว่าอังกฤษ 2 เท่า แต่อังกฤษรองรับได้ 3 ล้านเที่ยวบิน/ปี ส่วนประเทศเยอรมนีมีขนาด 2 ใน 3 ของไทย รองรับได้เกือบ 4 ล้านเที่ยวบิน/ปีส่วนไทยปี 2562 มีปริมาณจราจรทางอากาซ 1.05 ล้านเที่ยวบิน และยังมีปัญหาแออัดเที่ยวบินดีเลย์

สำหรับนโยบายให้ทอท.บริหาร สนามบินของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) 3 แห่ง ได้แก่ กระบี่ซึ่งมีศักยภาพสูง,สนามบินอุดรธานี จะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางขนส่งผู้โดยสารภาคอีสาน, สนามบินบุรีรัมย์ พัฒนาให้เป็นเกตเวย์สู่ภาคอีสานตอนใต้และประเทศเพื่อนบ้านนั้น คาดว่าจะสามารถนำเข้าครม.ในเดือน ธ.ค. 2564

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ต.ค. 64)

Tags: , , , , , ,