รมว.พาณิชย์ ชี้ส่งออกยังเป็นความหวังขับเคลื่อนศก.ไทยได้ แม้ในวิกฤติโควิด

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “ความหวังส่งออกไทย ในมรสุมโควิด” โดยระบุว่า ตลอดที่ผ่านมา การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยใช้แนวทางการพึ่งพาจากทั้งภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยวควบคู่กันไปในการนำรายได้เข้าประเทศ

ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เพราะหากภาคใดภาคหนึ่งเกิดประสบปัญหาขึ้น จะยังมีอีกภาคช่วยประคองเศรษฐกิจไว้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิดตั้งแต่ปลายปี 62 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวต้องหยุดชะงักลง ในขณะที่ภาคการส่งออกยังสามารถเป็นแรงช่วยในการขับเคลื่อนประเทศได้

ข้อมูลในช่วงก่อนเกิดโควิดระบาด จะพบว่าภาคการท่องเที่ยว ทำรายได้เข้าประเทศคิดเป็น 11.33% ต่อจีดีพี ส่วนภาคส่งออก ทำรายได้ 44.69% ต่อจีดีพี รวมกันแล้วคิดเป็น 46% ต่อจีดีพี แต่ปัจจุบัน ภาคการท่องเที่ยว เหลือทำรายได้เข้าประเทศแค่เพียง 1.87% ของจีดีพี ในขณะที่ภาคการส่งออกยังคงทำรายได้ใกล้เคียงกับภาวะปกติที่ 50.83% ของจีดีพี ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วคิดเป็น 52% ของจีดีพี

“จะเห็นได้ว่าภาคการส่งออก ยังคงเป็นความหวังที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ แม้ในช่วงสถานการณ์โควิด” 

รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์กล่าว

พร้อมระบุว่า ในช่วงเดือนมี.ค.-ก.ค.ที่ผ่านมา การส่งออกของไทยกลับมาเติบโตต่อเนื่องกัน 5 เดือน โดยเฉพาะในเดือนมิ.ย.64 ที่การส่งออกของไทยสูงสุดในรอบ 11 ปี ที่มูลค่า 23,699 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 43.82% แต่อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือนส.ค.และก.ย.นี้ มูลค่าการส่งออกอาจชะลอตัวลงบ้าง จากผลกระทบของโควิดที่ทำให้มีการปิดโรงงานที่เป็นภาคการผลิตเพื่อการส่งออก รวมทั้งปัญหาด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ แต่เชื่อว่าการส่งออกไทยจนถึงปลายปี 64 นี้จะยังเติบโตเป็นบวกต่อเนื่อง และเป็นความหวังให้กับเศรษฐกิจไทยได้ต่อไป

“เชื่อว่าส่งออกก็จะยังเป็นบวกไปจนถึงปลายปี และเป็นความหวังให้กับเศรษฐกิจไทยได้ ตอนนี้ภาพรวมส่งออก 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.) ขยายตัวแล้วถึง 16.20% สูงเป็น 4 เท่าของเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ที่ตั้งไว้ที่ 4%” 

นายจุรินทร์กล่าว

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังมีนโยบายสนับสนุนการส่งออกที่ชัดเจน โดยยึดหลักสำคัญ คือ “รัฐหนุน เอกชนนำ” ให้ภาคเอกชนเป็นพระเอกหลัก เพราะมีความเชี่ยวชาญในด้านนี้มากกว่า ในขณะที่ภาครัฐจะทำหน้าที่ในการสนับสนุน ส่งเสริม และช่วยลดอุปสรรคทางการค้าต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) เพื่อทำงานร่วมกันในการกำหนดยุทธศาสตร์ที่เป็นรูปธรรมในการขับเคลื่อนการส่งออกของประเทศ และขจัดปัญหาอุปสรรคในการส่งออกร่วมกัน

“เราต้องให้เอกชนเป็นกองหน้า และรัฐเป็นแบ็ค สนับสนุนให้กองหน้าทำประตู นำเงินเข้าประเทศ รัฐอย่าเป็นพระเอกเสียเอง เพราะเอกชนเขารู้มากกว่า รัฐต้องไม่สร้างอุปสรรคให้ยิงประตูไม่ได้ เราต้องตัดอุปสรรคทิ้ง ให้เอกชนยิงประตูได้เยอะๆ ทำเงินเข้าประเทศได้มากๆ” 

รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์กล่าว

โดยความสำเร็จของการแก้ไขอุปสรรคด้านการส่งออกที่เป็นรูปธรรมจากการมี กรอ.พาณิชย์ เช่น การแก้ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์, การเจรจาเรื่องลดค่าระวางเรือ ตลอดจนการสนับสนุนให้มีการขยายช่องทางการตลาดสินค้าไทยทั้งในระดับจังหวัด ระดับประเทศ และในต่างประเทศ ด้วยการตั้งทีมเซลล์แมนจังหวัด และเซลล์แมนประเทศ เพื่อประสานงานกันในการทำตลาดส่งออกสินค้าไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยยังคงขยายตัวได้แม้ในช่วงสถานการณ์โควิดระบาด

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยด้านอื่นๆ ที่เข้ามาช่วยเสริมการส่งออกของไทยในปีนี้ เช่น ภาวะเงินบาทที่อ่อนค่า ซึ่งทำให้ราคาสินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ดีขึ้นในตลาดโลก รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าเองก็เริ่มฟื้นตัวได้ดีขึ้น จึงยิ่งทำให้การส่งออกไทยมีความหวังมากขึ้น

นายจุรินทร์ กล่าวว่า จากการที่เศรษฐกิจของหลายประเทศเริ่มฟื้นตัวได้นั้น นอกจากทุกประเทศจะได้รับประโยชน์แล้ว ในอีกมุมหนึ่งย่อมหมายถึงภาวะการแข่งขันทางการค้าที่ทวีความเข้มข้นมากขึ้นตามไปด้วย โดยมองว่าปัจจัยท้าทายสำหรับการส่งออกไทยที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือ ได้แก่

  1. มาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกกำหนดขึ้นจากประเทศที่พัฒนาแล้วเกือบทั้งสิ้น เช่น มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม, แรงงาน, สุขอนามัย เป็นต้น
  2. ประเทศมหาอำนาจ มีแนวโน้มจะนำปัจจัยเศรษฐกิจเข้าไปผูกติดกับปัจจัยการเมือง ซึ่งประเด็นนี้จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และเห็นว่าไทยคงจะต้องร่วมมือกับอาเซียนมากขึ้น เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองทางการค้า
  3. ภาครัฐและเอกชนต้องศึกษาและทำความเข้าใจกับกติกาการค้าโลกอย่างลงลึกมากขึ้น และเร่งใช้ประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้าต่างๆ ที่ได้ทำไว้ และ
  4. การที่จีนสนใจจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งต้องจับตาว่าจะมีผลกระทบกับไทยมากน้อยอย่างไร เนื่องจากหากจีนได้เข้าเป็นสมาชิก CPTPP จะทำให้จีนต้องปรับมาตรฐานการผลิต การนำเข้า-ส่งออกสินค้าในอีกหลายรายการ ซึ่งย่อมจะมีผลกระทบมาถึงไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากจีนเป็นตลาดสินค้าในลำดับต้นๆ ของไทย ซึ่งประเด็นนี้ กรอ.พาณิชย์ จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.ย. 64)

Tags: , , ,