รมว.พาณิชย์ เร่งแก้ปัญหาขาดแคลนตู้สินค้า หวังหนุนส่งออกโตเคลื่อนศก.ประเทศ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมเรือสินค้า MSC Amsterdam ณ ท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยได้กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้าว่า สถานการการส่งออกของไทย โดยเฉพาะในปี 2564 มีตัวขับเคลื่อนสำคัญ คือ การส่งออกที่เป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นการแก้ปัญหาการส่งออกจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ

สำหรับประเด็นปัญหาการส่งออกสินค้าทางเรือในขณะนี้ คือตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เนื่องจากก่อนเกิดสถานการณ์โควิดมีการส่งสินค้าไปสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปจำนวนมาก แต่ส่งสินค้ากลับมาน้อย ตู้จึงไปค้างอยู่ที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป

ทั้งนี้ ได้มีการประชุม กรอ.พาณิชย์ ร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย และภาคเอกชน โดยมีข้อสรุป คือ 1.จะเปิดโอกาสให้เรือขนาดใหญ่ 300-400 เมตรเข้ามาเทียบท่าที่แหลมฉบังได้ ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบให้การท่าเรือฯ แก้ประกาศฉบับใหม่อนุญาตให้เรือ 300-400 เมตรเข้าเทียบท่าได้

โดยตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 64 ,17 เมษายน 64, 20 เมษายน 64, 5 พฤษภาคม 64เป็นเรือลำใหญ่ขนาด 399 เมตร สามารถบรรทุกตู้เข้ามาได้ประมาณ 12,000 ตู้ และวันนี้เรือสินค้า MSC Amsterdam ขนาด 399 เมตร สามารถบรรทุกตู้เปล่าเข้ามาได้ประมาณ 4,000 ตู้ สามารถบรรจุสินค้าลงไปได้ประมาณ 80,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าสินค้าที่ส่งออกประมาณ 6,000 ล้านบาท และยังมีอีก 2ลำที่จะเข้ามาวันที่ 2 มิถุนายน 64 เป็นเรือขนาด 395 เมตรและ 19 มิถุนายน 64 เป็นเรือขนาด 398 เมตร

“รวมแล้วทั้งหมดจะเป็น 7 ลำ สามารถบรรทุกตู้เปล่าเข้ามาประมาณ 23,000 ตู้ สามารถขนสินค้าออกไปได้ประมาณ 458,000 ตันรวมมูลค่าให้การส่งออกเพิ่มขึ้นจากการได้ตู้เปล่าประมาณ 35,000 ล้านบาท คือผลที่เป็นรูปธรรมจากการร่วมกัน” 

นายจุรินทร์กล่าว

พร้อมระบุว่า ขณะนี้ตู้สินค้าเริ่มเข้าสู่สภาวะสมดุล ความต้องการใช้ตู้เปล่าอยู่ที่เดือนละประมาณ 128,000 ตู้ ขณะที่มีตู้เปล่าประมาณ 130,000 ตู้ อย่างไรก็ดี ต้องติดตามสถานการณ์ และกรมเจ้าท่าต้องอำนวยความสะดวกโดยเร็วที่สุด เปิดโอกาสให้เรือขนาดใหญ่นำตู้เปล่าเข้ามา เพื่อจะได้ส่งสินค้าออกไปได้มากขึ้น ซึ่งการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจะเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ต่อไป

“เชื่อว่าศักยภาพการส่งออกสินค้าไทยไปต่างประเทศยังมีเพิ่มขึ้น ภาคเอกชนสายการเดินเรือต้องเข้ามาช่วยในการจัดหาตู้และกรมเจ้าท่าต้องอนุญาตโดยเร็วในการดำเนินการ และได้มีประกาศใหม่ให้ใบอนุญาตสำหรับเรือขนตู้ขนาด 300-400 เมตร ภายในเวลา 2 ปี แต่ผมจะไปเจรจาว่า ทำไมไม่เป็นตลอดไป เพราะการส่งออกยังเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญ หากจำเป็นต้องปรับปรุงร่องน้ำ หรือปรับปรุงอุปกรณ์อำนวยความสะดวก ก็จะต้องลงทุนเพิ่มเติม เพื่อแลกกับตัวเลขการส่งออกที่นำรายได้เข้าประเทศ เชื่อว่าคุ้มแน่นอน” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 พ.ค. 64)

Tags: , , , , , , ,