รมว.อว.เผยผลจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมของไทยขยับมาที่ 43, งบ R&D สูงเป็นอันดับ 1

นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลกประจำปี 2564 (Global Innovation Index 2021; GII 2021) ภายใต้แนวคิดติดตามการปรับตัวระบบนวัตกรรมในภาวะวิกฤตโควิด-19 (Tracking Innovation through the COVID-19 Crisis) ซึ่งจัดโดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (WIPO) เพื่อวัดระดับความสามารถทางด้านนวัตกรรมเสมือนมาตรวัดเปรียบเทียบเชิงเวลา และการเปรียบเทียบเชิงแข่งขันทางด้านนวัตกรรมของแต่ละประเทศกว่า 132 ประเทศทั่วโลก

โดยปีนี้ประเทศไทยขยับขึ้นมาอยู่อันดับที่ 43 จากปีก่อนอันดับที่ 44 ถือเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์ อันดับ 8 มาเลเซีย อันดับ 36 และแซงเวียดนามที่ตามมาในอันดับ 44 และมีปัจจัยสัดส่วนค่าใช้จ่ายมวลรวมภายในประเทศสำหรับการวิจัยและพัฒนา (R&D) ซึ่งลงทุนโดยองค์กรธุรกิจ สูงเป็นอันดับ 1 ของโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 2

ทั้งนี้ อว. มีบทบาทหลักในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์และรังสรรค์นวัตกรรม โดยมุ่งเน้นการบ่มเพาะและพัฒนาขีดความสามารถผู้ประกอบการนวัตกรรม การพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมที่เอื้อต่อการสร้างและแปลงนวัตกรรมสู่มูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคม โดยเชื่อมั่นว่าการที่นวัตกรรมจะเดินหน้าอย่างก้าวกระโดดนั้น ต้องอาศัยความเข้มแข็งของภาคเอกชนโดยมีภาครัฐเป็นกองหนุนที่สำคัญ เพื่อทำให้ประเทศไทยดีดตัวเองออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศรายได้สูงด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม

ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ประเทศไทยสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อช่วยรับมือวิกฤตโควิดได้สำเร็จมากมาย เช่น ชุดพีพีอี หน้ากากพีเอพีอาร์ ห้องไอซียูความดันลบ ระบบโฮมไอโซเลชั่น ฯลฯ ซึ่งมีต้นทุนราคาถูกกว่าต่างประเทศ นอกจากนั้น ยังมีการพัฒนาวัคซีนจากฝีมือคนไทยกว่า 4 ชนิด ที่ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการทดลองขั้นสุดท้ายในคน

“จะเห็นได้ว่าประเทศมีความพร้อมที่จะก้าวสู่การเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการขับเคลื่อนนวัตกรรมประเทศไทยให้ก้าวสู่อันดับ 1 ใน 30 ของประเทศที่มีความสามารถด้านนวัตกรรมของโลกภายในปี 2573 โดยในปีนี้ผลการจัดอันดับ GII 2021 ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 43 ปรับดีขึ้น 1 อันดับ จากปี 2563 ซึ่งนับเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง” 

นายเอนก กล่าว

นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า การจัดอันดับ GII 2021 ภายใต้แนวคิด Tracking Innovation through the COVID-19 Crisis มุ่งเน้นการวิเคราะห์ผลกระทบของวิกฤตไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อการพัฒนาระบบนวัตกรรม โดยในปีนี้ปัจจัยเข้าทางนวัตกรรม (Innovation input sub-index) ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมอันดับที่ 48 เป็นอันดับที่ 47 ขณะที่ปัจจัยย่อยผลผลิตทางนวัตกรรม (Innovation output sub-index) มีอันดับลดลงจากอันดับที่ 44 ลดลงเป็นอันดับที่ 46 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศกลุ่มรายได้ปานกลางระดับบน (upper middle-income economies) ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 5 จากจำนวน 34 ประเทศ โดยประเทศไทยมีอันดับที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยในทุกปัจจัย แต่หากเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออกและโอเชียเนีย ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 9 จากจำนวน 17 ประเทศ

สำหรับปัจจัยชี้วัดความสามารถด้านนวัตกรรมของประเทศไทยที่โดดเด่นมากที่สุด เป็นกลุ่มปัจจัยด้านระบบตลาด และกลุ่มปัจจัยด้านระบบธุรกิจ ที่แม้จะมีการปรับตัวลดลงมาเล็กน้อยแต่ยังอยู่ในระดับที่ดี โดยเฉพาะสัดส่วนค่าใช้จ่ายมวลรวมภายในประเทศสำหรับการวิจัยและพัฒนาซึ่งลงทุนโดยองค์กรธุรกิจ (อันดับ 1) ซึ่งสะท้อนให้เห็นการลงทุนของภาคเอกชนในประเทศไทยมุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจด้วยการพัฒนานวัตกรรมมากขึ้น

นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าความเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดสำหรับปีนี้เป็นกลุ่มปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน ในกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่ปรับอันดับขึ้นจากอันดับที่ 79 เป็นอันดับที่ 60 โดยตัวชี้วัดภายใต้กลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการเข้าถึงและการใช้งานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงการบริการออนไลน์ของภาครัฐ สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์ของการปรับตัวของภาครัฐและภาคเอกชนในช่วงวิกฤตไวรัสโควิด-19 ซึ่งถือเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมไปสู่การขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมข้อมูล (Data–driven Innovation)

แต่สิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดด้านข้อมูลในการติดตามและวัดผลนวัตกรรม คือการขาดข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ซึ่งจากตัวชี้วัดทั้งสิ้น 81 ตัวชี้วัด มีถึง 16 ตัวชี้วัดที่ต้องนำข้อมูลในอดีตมาประมาณการ และมี 1 ตัวชี้วัดที่ไม่ได้มีการจัดเก็บหรือรายงานผล ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจัดอันดับในภาพรวมและการติดตามเพื่อวางแผนการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ เช่น ตัวชี้วัดด้านการร่วมลงทุน ทั้งในส่วนของนักลงทุนและบริษัทที่ได้รับการลงทุน โดยช่วงที่ผ่านมาถือได้ว่าประเทศไทยมีความตื่นตัวและการเติบโตด้านนี้เป็นอย่างมาก แต่ไม่ได้มีการติดตามหรือจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นรูปธรรม จึงทำให้ข้อมูลในส่วนนี้มีความคลาดเคลื่อน และส่งผลต่อการจัดอันดับในกลุ่มปัจจัยด้านการลงทุน

แม้ที่ผ่านมา ประเทศไทยจะมีการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างของระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ แต่เป็นการมุ่งเน้นการจัดโครงสร้างฝั่งอุปทาน (วิจัยและพัฒนา) และยังไม่ได้แก้ปัญหาฝั่งอุปสงค์ (นวัตกรรม) อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้การใช้ประโยชน์องค์ความรู้และความคิดสร้างสรรค์ที่นำไปสู่นวัตกรรมยังมีอยู่จำกัด ไม่สามารถสร้างผลกระทบในวงกว้างอย่างเป็นระบบ ด้วยเหตุนี้ การขับเคลื่อนระบบนวัตกรรมจึงต้องเร่งดำเนินการในประเด็นต่อไปนี้ ได้แก่

  1. การเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมที่มีศักยภาพ
  2. การพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการ
  3. การปรับปรุงกฎ ระเบียบ และมาตรการที่เป็นอุปสรรค
  4. การพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อเชื่อมโยงองค์ความรู้และการลงทุน
  5. การใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม
  6. การกระจายโอกาสด้านนวัตกรรมไปสู่ภูมิภาค และ
  7. การเตรียมความพร้อมต่อระบบนวัตกรรมที่กำลังเปลี่ยนไป

การพัฒนาที่สอดรับและสนับสนุนให้ตรงกับปัจจัยและตัวชี้วัดที่เป็นข้อจำกัดเชิงระบบ จะเป็นเหมือนสปริงบอร์ดสำหรับประเทศไทยในการที่จะก้าวกระโดดด้านนวัตกรรม เพื่อก้าวเป็นประเทศชั้นนำที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ในฐานะหน่วยประสานและขับเคลื่อนระบบนวัตกรรมของประเทศ จึงให้ความสำคัญกับการติดตามและนำข้อมูลดัชนีนวัตกรรมโลกมาใช้ประโยชน์ในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการออกแบบนโยบายที่เหมาะสมและสอดคล้อง ที่สามารถขับเคลื่อนและปรับเปลี่ยนระบบนวัตกรรมไทยได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.ย. 64)

Tags: , , , , , , , ,