รัฐบาลลุยฉีดวัคซีน 1 ล้านโดสกลุ่มสูงอายุ-7 กลุ่มเสี่ยงใน 2 สัปดาห์, ปรับระบบตรวจ-รักษา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม มอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีตอบคำถามสื่อมวลชนถึงปัญหาการแก้ไขการแพร่ระบาดโควิด-19 ว่า ปัจจุบันการแพร่ระบาดเป็นสายพันธุ์เดลตา ซึ่งมีความรุนแรงและติดต่อได้ง่าย ซึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้พบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกทม.และปริมณฑล รวมถึง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้

รัฐบาลได้มีการปรับเปลี่ยนและปลดล็อกในหลายๆเรื่อง เพื่อเอาชนะโควิดในช่วงนี้ให้ได้โดยเร็ว โดยแบ่งการทำงานเป็น 4 ระบบ คือ 1.การป้องกัน ต้องมีการจัดหาวัคซีนเพิ่มขึ้นโดยเร็ว และฉีดให้กับประชาชนให้ได้มากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาฉีดให้กับประชาชนไปแล้ว 12 ล้านโดส และปัจจุบันจะเร่งกระจายวัคซีนที่อยู่อีก 5.4 ล้านโดส เพื่อลดการสูญเสียในกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ป่วยใน 7 กลุ่มเสี่ยง และในกทม.และปริมณฑลจะเร่งระดมฉีดให้ได้อีก 1 ล้านโดสในช่วง 2 สัปดาห์จากนี้

ส่วนประสิทธิภาพของวัคซีน มีผลการศึกษาจากตัวอย่างของบุคลากรทางแพทย์ที่ฉีดวัคซีนแล้ว ประมาณ 7 แสนคน ทั้งชิโนแวค และแอสตราเซนเนก้า มีรายงานว่ามีบุคลากรทางแพทย์ติดเชื้อ 707 คน มีอาการหนัก 3 ราย เสียชีวิต 2 ราย

2.การตรวจคัดกรอง มีการปลดล็อกให้โรงพยาบาลเปิดรับการตรวจให้กับประชาชน แม้จะไม่มีเตียงรองรับ แต่เมื่อพบว่า ติดเชื้อต้องมีการลงทะเบียนเข้าระบบ เพื่อแยกกักตัวและรักษาต่อไปตามความรุนแรงของอาการทันที และยังมีการปลดล็อกชุดตรวจโควิด-19 แบบ Antigen Test kit ที่ผ่านการรองรับขององค์การอาหารและยา (อย.) ให้โรงพยาบาลและคลินิคชุมชนสามารถใช้ตรวจได้ ซึ่งหากมีผลเป็นบวกต้องมีการตรวจซ้ำแบบ RT-PCR เพื่อยืนยันผลว่าติดเชื้อ ก่อนเข้าระบบแยกกักตัวเพื่อทำการรักษาต่อไป

ส่วนกรณีที่จะให้ประชาชนซื้อไปตรวจเอง รัฐบาลกำลังดำเนินการเรื่องกฏระเบียบเพื่อปลดล็อกให้สามารถใช้ได้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย ซึ่งจะมีการระบุว่าสามารถซื้อได้ที่มดบ้าง และจะมีการควบคุมราคาด้วย โดยนายกรัฐมนตรี ได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลควบคุมให้มีราคาที่ถูกต้องเป็นธรรม ไม่ให้ประชาชนได้ได้รับผลกระทบ รวมถึงยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีการเก็บภาษีนำเข้าวัคซีนทางเลือกและชุดตรวจ Antigen test kit

ทั้งนี้ นายอนุชา กล่าวว่า ศบค.ยังมีการจัดชุดเคลื่อนที่เร็วเพื่อลงไปตามจุดพื้นที่ต่างๆให้เกิดความคล่องตัวในการคัดกรองระดับชุมชนจำนวน 200 ทีม ซึ่งประกอบด้วยบุคลากรทางการแพทย์ฝ่ายความมั่นคงและบุคลากรของ 50 เขตกทม.เพื่อค้นหาและคัดกรองผู้ติดเชื้อทั่วกรุงเทพมหานคร และแยกผู้ติดเชื้อออกมาเพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาลโดยเร็ว

3.ระบบการกักตัวของผู้ที่เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศอย่างมีระบบและมาตรฐาน และมีการขยายเตียงเพิ่มเติมตามจุดโรงพยาบาล เช่น โรงพยาบาลบุษราคัม เพิ่มอีกถึง 1,000-2,500 เตียง ทำให้สามารถรองรับได้ขณะนี้ 3,700-4,000 เตียง และมีการเปิดศูนย์พักคอย 17 แห่ง รองรับผู้ป่วย 2,560 เตียง และจะแขยายให้ได้ถึง 3,000 เตียง

พร้อมกันนั้นจะใช้ระบบแยกกับตัวที่บ้านหรือ Home Isolation สำหรับผู้ที่ติดเชื้อไม่มีอาการหรืออาการสีเขียวที่มีอาการน้อยมากโดยไม่ต้องรักษาที่โรงพยาบาล แต่ต้องอยู่ในความดูแลและดุลยพินิจของแพทย์อย่างใกล้ชิด ซึ่งจะมีระบบการติดตามรักษาโดยใช้ระบบเทเลเมดิซีน ซึ่งรัฐบาลจะสนับสนุนอุปกรณ์ทางแพทย์อย่างเต็มที่ พร้อมทั้งยาเวชภัณฑ์ในการรักษา รวมถึงอาหารทุกมื้อ ซึ่งจะไม่ต่างกับการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล และจะมีอสม. ลงไปดูแลระหว่างรักษาตัวที่บ้าน หากผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลงจะมีการนำส่งตัวเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างเป็นระบบ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.ค. 64)

Tags: , , , ,