วิจัยกรุงศรี ชี้ศก.ไทยเสี่ยงขาลง หลังโควิดระบาดเข้าใกล้กรณีเลวร้ายสุด

วิจัยกรุงศรี รายงานว่า การแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลตาในประเทศไทย ทำให้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เป็นที่น่ากังวล ล่าสุดทางการประกาศยกระดับมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดเพิ่มขึ้น กับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (10 จังหวัดสีแดงเข้ม) โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล (นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร) จะมีการจำกัดการเคลื่อนย้ายและการดำเนินกิจกรรมของบุคคลให้มากที่สุด โดยเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.นี้

“ความเชื่อมั่นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า จึงเผชิญความเสี่ยงขาลงมากขึ้น และกระทบต่อประมาณการ GDP ไทยในปีนี้ จากเดิมที่คาดไว้ที่ 2% เนื่องจากสถานการณ์การระบาด ได้เข้าสู่กรณีเลวร้ายสุดของแบบจำลองที่วิจัยกรุงศรีประมาณการไว้” บทวิเคราะห์ระบุ

โดยจำนวนผู้ติดเชื้อต่อวันใกล้แตะระดับ 10,000 ในช่วงต้นเดือนก.ค.64 ภายใต้สมมติฐานว่า การติดเชื้อของไทยในระยะข้างหน้ามีสาเหตุหลักจากเชื้อสายพันธุ์เดลตาและเบตา ดังนั้น ข้อมูลรูปแบบการติดเชื้อจึงอ้างอิงจากประเทศอินเดีย และแอฟริกาใต้

อย่างไรก็ตาม ภายใต้การคาดการณ์เป้าหมายการฉีดวัคซีนไว้ที่ 250,000 โดสต่อวันจนถึงสิ้นปีนี้ ผนวกกับผลของมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้นล่าสุด คาดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จะลดลงอย่างช้าๆ นับตั้งแต่เดือนส.ค.

“ประสิทธิภาพของวัคซีน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลง โดยเฉพาะภายหลังจากเดือนก.ย. 64 ซึ่งคาดว่าจะมีประชาชนที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้วเป็นอย่างน้อยที่ 25 – 30 ล้านคน หรือราว 40% ของประชากร” บทวิเคราะห์ระบุ

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมิ.ย. 64 ชะลอลงต่อเนื่อง คาดครึ่งปีหลังเงินเฟ้อจะทยอยเพิ่มขึ้นอย่างจำกัด โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมิ.ย. 64 อยู่ที่ 1.25% YoY ชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จาก 2.44% ในเดือนพ.ค. 64 ผลจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแม้ยังปรับตัวสูงขึ้นแต่มีอัตราชะลอลง ประกอบกับยังมีผลของมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพภาครัฐในการปรับลดค่าประปาและค่าไฟฟ้า รวมถึงการลดลงของราคาในกลุ่มอาหารสดหลายชนิด สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เฉลี่ยอยู่ที่ 0.89% และ 0.27% ตามลำดับ

วิจัยกรุงศรีคาดว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี แม้อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้นจากราคาพลังงานที่ยังทรงตัวในระดับสูง และการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์บางชนิดตามการฟื้นตัวของอุปสงค์โลก แต่การเพิ่มขึ้นค่อนข้างจำกัด เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่ยังคงรุนแรง และเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและอุปสงค์ในประเทศ

“คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือน จะเพิ่มขึ้นแตะขอบล่างของกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายในช่วงปลายปีนี้ สะท้อนแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ เอื้อต่อการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่อง ท่ามกลางเศรษฐกิจในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัว” บทวิเคราะห์ระบุ

สำหรับภาวะเศรษฐกิจโลก วิจัยกรุงศรีวิเคราะห์ว่า ธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจหลัก ส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป ทั้งธนาคารกลางสหรัฐ, ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางจีน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.ค. 64)

Tags: , , , ,