ศบค.โต้ข้อกังวลเปิดประเทศ 120 วันต้องเช็คความพร้อมก่อนแน่-แผนยืดหยุ่นได้

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวถึงกรณีที่มีผู้กังวลต่อการที่นายกรัฐมนตรีประกาศเปิดประเทศใน 120 วันว่า แผนงานของรัฐบาลจำเป็นต้องมีเป้าหมายและทิศทาง โดยตัวเลข 120 วันไม่ใช่การตัดสินใจของใครคนใดคนหนึ่ง แต่มีการหารือกับคณะกรรมการ คณะทำงาน อาจารย์แพทย์ และหลายภาคส่วน ก่อนจะประกาศเป้าหมายดังกล่าว

และมีการเน้นย้ำเสมอว่าก่อนถึง 120 วันจะมีการติดตามมาตรการต่างๆ อย่างเข้มงวด หากมีการพิจารณาจากคณะทำงานว่ายังไม่พร้อม แผนก็สามารถปรับเปลี่ยนและยืดหยุ่นได้ แต่การไม่มีแผนจะยิ่งทำให้เป็นไปไม่ได้ ดังนั้น การประกาศ 120 วันถือเป็นทิศทางที่รัฐบาลจะขับเคลื่อนทุกภาคส่วน และขอให้ทุกจังหวัดสำรวจตัวเองว่า 120 วันพร้อมหรือไม่ หากยังไม่พร้อมต้องไปทบทวนว่าสิ่งใดยังหละหลวม เพื่อร่วมด้วยช่วยกันให้แผนเป็นไปได้

สำหรับการเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ในวันนี้ ทางจังหวัดภูเก็ตได้มีการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุกรณีการพบผู้ติดเชื้อและมีการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 หากมีการรายงานพบผู้ติดเชื้อ 15 คนต่อประชากร 1 แสนคนใน 1 สัปดาห์ก็จะมีการทบทวน ชะลอ หรือยกเลิกโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ตามมาตรการที่ได้กำหนดไว้

“หมายความว่าประชากรภูเก็ตที่มีการรวมทั้งประชากรที่ถูกต้องและประชากรแฝง 547,000 คน ถ้าใน 1 สัปดาห์พบการติดเชื้อ 75 คน ก็จะมีการทบทวนหรือยกเลิกโครงการ”

พญ.อภิสมัย กล่าว

ทั้งนี้ หากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์สามารถดำเนินการผ่านไปได้ด้วยดีและได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ก็จะเป็นโครงการนำร่องในการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้าไปในจังหวัดอื่นๆ เช่น เกาะสมุย กระบี่ พังงา เชียงใหม่ และ บุรีรัมย์ เป็นต้น

พญ.อภิสมัย ยืนยันว่า การประกาศนโยบายของภาครัฐไม่ได้ตัดสินใจโดยง่าย และมีความยากลำบาก เพราะทุกมาตรการที่เสนอมาจะมีความเห็นแตกต่างกัน เช่น การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว บางฝ่ายเห็นว่ายังไม่พร้อม แต่การพิจารณาแนวทางดังกล่าวมีคณะกรรมการหลายฝ่ายช่วยกันนำเสนอมาตรการต่าง ๆ ออกมา

“เราไม่สามารถทำให้ทุกฝ่ายเห็นตรงกันได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกแสดงความเห็นออกมาว่าโรคโควิด-19 จะไม่หายไปโดยเร็ว จะอยู่กับโลกของเรา และมีคนเริ่มพูดกันว่าจะเป็นโรคประจำถิ่น แต่จะไม่ก่อให้เกิดการระบาดที่รุนแรงเท่าปัจจุบัน อาจคล้ายๆ ไข้หวัดใหญ่ ที่มาเป็นฤดูกาล และระบบสาธารณยังต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด และมีมาตรการในการควบคุมโรค”

พญ.อภิสมัย กล่าว

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่าการเปิดประเทศและการผ่อนปรนมาตรการยังมีความจำเป็น ถือเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในภาคธุรกิจ ซึ่งมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดต้องสอดคล้องกับความอยู่รอดของประชาชน เศรษฐกิจ สังคม และความเสี่ยงต้องอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 ก.ค. 64)

Tags: , , , , , ,