สธ. เผยหญิงตั้งครรภ์ติดโควิดเสี่ยงอาการรุนแรง-เสียชีวิตได้มากกว่าคนปกติ

นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ และโฆษกกรมอนามัย เปิดเผยว่า ปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อโควิด-19 สูงขึ้นอยู่ในระดับเฉลี่ยวันละ 50-60 รายต่อวัน โดยสถานการณ์การติดเชื้อของสตรีตั้งครรภ์ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-18 ส.ค. 64 อยู่ที่ 2,327 ราย แบ่งเป็นคนไทย 1,590 ราย และต่างชาติ 737 ราย โดยในจำนวนนี้ได้รับวัคซีนแล้ว 22 ราย ทั้งนี้ พบว่ามีการติดเชื้อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ 119 ราย และมีมารดาเสียชีวิต 53 ราย ทารกเสียชีวิต 23 ราย

จากสถิติพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) โดยเฉพาะพื้นที่กทม. อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ยังไม่ครอบคลุมจากจำนวนหญิงตั้งครรภ์ในประเทศทั้งหมดประมาณ 5 แสนราย/ปี ซึ่งขณะนี้ฉีดวัคซีนได้ไม่ถึง 10% โดยข้อมูลการรับวัคซีนของหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้วมีจำนวน 13,686 ราย ได้รับวัคซีนเข็มที่สองแล้ว 904 ราย

ทั้งนี้ หญิงตั้งครรภ์ที่เสียชีวิตทั้ง 53 ราย ในกลุ่มนี้มีการฉีดวัคซีนแล้วทั้งหมด 2 ราย โดยปัจจัยเสี่ยงเกิดจากโรคประจำตัวต่าง ๆ ได้แก่ โรคอ้วน 8 ราย, โรคเบาหวาน 3 ราย, โรคความดันโลหิตสูง 3 ราย และโรคธาลัสซีเมีย 3 ราย นอกจากนี้เกิดจากปัจจัยอายุ 35 ปีขึ้นไป 13 ราย และใช้สารเสพติดอีก 1 ราย โดยแหล่งสัมผัสเชื้อมาจากบุคคลในครอบครัว 12 ราย, สถานที่ทำงาน 7 ราย, ตลาด 3 ราย, งานเลี้ยง 1 ราย และไม่มีข้อมูล 30 ราย

นพ.เอกชัย กล่าวว่า หญิงตั้งครรภ์ถ้าติดเชื้อโควิด-19 แล้ว จะมีอันตรายมากกว่าหญิงที่ไม่ตั้งครรภ์ โดยพบว่ามีโอกาสเข้า ICU สูงกว่า 2-3 เท่า โอกาสที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจสูงกว่า 2.6-2.9 เท่า และโอกาสในการเสียชีวิตอยู่ที่ 1.5-8 คน จาก 1,000 คน ทั้งนี้หญิงตั้งครรภ์ถ้าติดเชื้อโควิด-19 จะมีผลต่อทารกหลายประการ เช่น คลอดทารกก่อนกำหนด 1.5 เท่า, ทารกเสียชีวิตหลังคลอด 2.8 เท่า, ทารกต้องเข้า ICU 4.9 เท่า และทารกสามารถติดเชื้อได้ 3-5% แต่ส่วนใหญ่ของเด็กที่ติดเชื้อจะไม่มีอาการ

สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่ควรจะไปตรวจหาเชื้อโควิด-19 คือผู้ที่มีอาการ เช่น ไข้ ไอ หายใจติดขัด เจ็บคอ มีน้ำมูก หรือกรณีไม่มีอาการแต่เป็นผู้สัมผัสความเสี่ยงสูง ก็ควรได้รับการตรวจหาเชื้อเช่นกัน โดยแนะนำให้ตรวจเบื้องต้นด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ก่อน เมื่อตรวจพบว่าติดเชื้อ หากอาการไม่หนักอยู่ในกลุ่มสีเขียวจะให้ทำ Home Isolation (HI) แต่หากอาการหนักอยู่ในกลุ่มสีเหลือง และสีแดง แพทย์จะรับไว้ในโรงพยาบาลเพื่อแยกจากคนที่ไม่ติดเชื้อ และจะทำการประเมินอาการ และความรุนแรงของโรคร่วมกับทีมอายุรแพทย์ ในขณะเดียวกันจะทำการติดตามคนที่สัมผัสใกล้ชิดมาตรวจหาเชื้อต่อไป

ส่วนกรณีถ้าติดเชื้อหลังคลอด จะมีการแยกทารกออกไปตรวจหาเชื้อไวรัสก่อน หากไม่พบเชื้อโควิดในตัวทารก มารดาสามารถกอดและอุ้มทารกได้ แต่ต้องสวมหน้ากากอนามัย, ล้างมือก่อนและหลังจับตัวทารก, งดหอมแก้มทารก, ไม่ไอหรือจามใส่ และต้องเช็ดทำความสะอาดพื้นผิวที่สัมผัสด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค แต่หากพบว่าทารกติดเชื้อรุนแรง จะต้องแยกไปรักษาที่หอผู้ป่วยเด็กแรกเกิด ทั้งนี้หากพบว่าทารกติดเชื้อแบบไม่มีอาการ หรืออาการน้อย และมารดาไม่มีอาการ หรืออาการน้อยไม่จำเป็นต้องแยกจากมารดา

หากพบการติดเชื้อสามารถให้ทารกดูดนมจากเต้าได้ แต่จะต้องระวังไม่ให้ทารกติดเชื้อ โดยแม่จะต้องสวมหน้ากากอนามัย, ล้างมือก่อนและหลังจับตัวทารก, หลีกเลี่ยงการไอ หรือจาม ขณะให้ทารกดูดนม และเช็ดทำความสะอาดพื้นผิวหรือวัตถุที่สัมผัสด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ หรืออาจใช้วิธีปั้มนมออกมา แล้วให้ญาติหรือพี่เลี้ยงป้อนให้ทารกกินแทน แต่ในกรณีที่มารดาติดเชื้อและอยู่ระหว่างการรักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์ต้องงดให้นมทารก เนื่องจากยาสามารถออกมาผ่านน้ำนมได้ ส่วนมารดาที่ฉีดยาโควิด-19 สามารถให้นมลูกได้ตามปกติ

โดยข้อปฏิบัติในการให้นมมารดา และการบีบเก็บน้ำนม ได้แก่ 1. เช็ดทำความสะอาดบริเวณเต้านม และหัวนมด้วยน้ำอุ่น หากมีอาการไอจาม รดบริเวณหัวนม หน้าอก ให้ทำความสะอาดด้วยน้ำสบู่ 2. ใส่หน้ากากตลอดเวลา ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการให้นมหรือการบีบเก็บน้ำนม 3. ล้างมือด้วยน้ำและสบู่อย่างน้อย 20 วินาที และ 4. หลังการใช้เครื่องปั๊มนม ต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ จากนั้นต้มเพื่อฆ่าเชื้อโรค และเก็บอุปกรณ์ในบรรจุภัณฑ์ที่สะอาด

นพ.เอกชัย กล่าวว่า สำหรับหญิงครรภ์ที่มีความประสงค์จะฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ปรึกษาสูติแพทย์ เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมในการฉีดวัคซีน โดยแนะนำให้ฉีดหลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ โดยสามารถฉีดวัคซีนได้ทุกชนิด เช่น วัคซีนซิโนแวคสลับกับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หรือวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม รวมทั้งวัคซีนชนิด mRNA 2 เข็ม เป็นต้น ส่วนผลข้างเคียงของวัคซีนที่พบได้นั้นมีอาการน้อยและไม่แตกต่างจากคนทั่วไป ในขณะเดียวกัน แนะนำให้หลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 พร้อมกับวัคซีนชนิดอื่น ยกเว้นมีความจำเป็นจริง ๆ โดยการฉีดวัคซีนชนิดอื่นควรเลื่อนไปอย่างน้อย 2 สัปดาห์ หลังจากฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19

อย่างไรก็ตาม หากฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปแล้วพบว่าตั้งครรภ์ จากข้อมูลปัจจุบันยังไม่พบว่าวัคซีนจะส่งผลทำให้ทารกพิการแต่กำเนิด จึงไม่ต้องยุติการตั้งครรภ์เมื่อพบว่าตั้งครรภ์ภายหลังฉีดวัคซีน แต่ให้เลื่อนการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ออกไปฉีดในช่วงหลังอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์

ส่วนหญิงที่วางแผนจะตั้งครรภ์จะฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 สามารถฉีดวัคซีนได้ และหลังฉีดวัคซีนไม่ต้องเว้นระยะการมีบุตร ทั้งนี้หญิงที่ต้องการฉีดวัคซีน ไม่ต้องตรวจการตั้งครรภ์ก่อนฉีดวัคซีน และยังไม่มีหลักฐานว่าวัคซีนจะส่งผลต่อความสามารถในการมีบุตรในอนาคตแต่อย่างใด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ส.ค. 64)

Tags: , , , , , ,