สภาพัฒน์ แนะผู้ประกอบการปรับรูปแบบธุรกิจ เพื่อพัฒนาศก.ไทยอย่างยั่งยืน

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานอนุกรรมการด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า แนวทางการสร้างภูมิคุ้มกันผลักดันเศรษฐกิจไทยในอนาคตนั้น ทุกคนจะต้องให้การยอมรับ เรียนรู้ และปรับตัวให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยี ช่องว่างระหว่างวัย หรือภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจนยากที่จะพยากรณ์อนาคตระยะยาวสัก 10 ปีเหมือนในอดีต การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอาจจะขัดต่ออุปนิสัยของคนไทยที่ปรับตัวได้ช้า จนทำให้เกิดความไม่สบายใจ

รูปแบบการดำเนินธุรกิจในอนาคตนั้น ต้องคำนึงถึงเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าขณะนี้เกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติหลายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกระบวนการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นทิศทางของกรีนอีโคโนมีจึงเป็นทางเลือกของระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ ซึ่งผู้ประกอบการต้องผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงจะช่วยให้การพัฒนาระบบเศรษฐกิจเกิดความยั่งยืน แม้การผลิตสินค้าอาจไม่มีกำไรเพราะต้นทุนเพิ่มขึ้นก็ตาม โดยภาครัฐควรมีมาตรการจูงใจผู้ประกอบการ ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว ส่วนปัญหาความเหลื่อมล้ำนั้นเป็นอีกเรื่องที่องค์กรที่มีความแข็งแรงต้องให้การช่วยเหลือองค์กรที่อ่อนแอกว่า

“การผลิตสินค้าของบริษัทใหญ่เริ่มทำกันแล้ว เพราะมีข้อบังคับจากต่างประเทศ ซึ่งบริษัทใหญ่ที่แข็งแรงต้องช่วยเหลือบริษัทเล็กๆ ให้พัฒนาไปได้พร้อมกัน”

นายเทวินทร์ กล่าว

ปัญหาช่องว่างระหว่างวัยที่ทำให้เกิดความแตกต่างในสังคมขณะนี้ ถือเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีมานานทุกยุคทุกสมัย ซึ่งเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่นำไปสู่นวัตกรรม แต่ที่ผ่านมา เราอาจไม่เห็นปัญหานี้โดดเด่นมากนัก ซึ่งขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน ผู้นำองค์กรควรคำนึงถึงส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว และจะทำอย่างไรที่จะหาทางดึงเอาคุณสมบัติพิเศษของคนรุ่นใหม่มาใช้ประโยชน์ ซึ่งกระบวนการตัดสินนั้นต้องใช้สติและเหตุผล จึงจะช่วยลดความขัดแย้งได้

ที่ผ่านมา มีข้อกังวลเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีว่าจะล้าสมัยหรือไม่ ซึ่งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้จัดทำโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยนำจุดแข็งของประเทศมาต่อยอด โดยเน้นอุตสาหกรรม 4 สาขา คือ อุตสาหกรรมชีวภาพ, อาหารและเกษตรกรรม, ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์, อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยยังมีความหวังท่ามกลางอุปสรรคมากมาย

ผู้นำทุกระดับตั้งแต่ครอบครัวจนถึงระดับประเทศ ต้องบริหารการเปลี่ยนแปลงให้ได้ เพราะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเรียนรู้และยอมรับการเปลี่ยนแปลง ปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงอย่างมีสติแล้วลงมือปฏิบัติให้เกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริง รวมทั้งชี้แจงคนรอบข้างให้เข้าใจ และเกิดการเรียนรู้ก็จะสามารถรับมือได้

“เราต้องพึ่งตัวเองให้ได้ อย่าไปคิดว่าเป็นหน้าที่ของทุกคนที่มาทำแทนเรา เมื่อเราแข็งแรงแล้วต้องมี mindset ที่จะช่วยคนที่อ่อนแอกว่าเรา จะทำให้สังคมเข้มแข็ง ประเทศชาติมีความสามารถในการแข่งขัน”

นายเทวินทร์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ก.ย. 64)

Tags: , , ,