สภาฯ เห็นชอบแก้กม.แพ่ง-พาณิชย์ลดอัตราดอกเบี้ยปรับ-ผิดนัดชำระหนี้

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ลงมติเห็นชอบพ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ ด้วยคะแนน 403 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง และไม่มีผู้ไม่ลงคะแนนเสียง

นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ตนสนับสนุนการดำเนินการเรื่องนี้ จากการที่ รมว.คลัง ระบุว่า ประชาชนได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง สะท้อนสภาพการณ์ปัจจุบัน เอสเอ็มอีจะได้ประโยชน์ลดการฟ้องร้อง เพราะภาระดอกเบี้ยลดลง โดยเฉพาะดอกเบี้ยผิดนัด แต่ไม่สะเด็ดน้ำเพราะยังมีปัญหาอยู่มาก และประชาชนตั้งความหวังสูง เพราะเห็นข้อความที่ยื่นเข้า ครม. ทำให้คนคาดหวังว่าดอกเบี้ยลงทันที เพราะมาตรการที่ใช้ออกเป็น พ.ร.ก.คือต้องรวดเร็ว เข้มข้น เป็นธรรมและทั่วถึง ถ้วนหน้า ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่จนถึงวันนี้ดอกเบี้ยไม่ลดลง

นายเกียรติ ระบุว่า คนที่ได้ประโยชน์จาก พ.ร.ก.ฉบับนี้มีน้อยมาก และแก้ปัญหาสินเชื่อในระบบได้เพียง 0.1% เท่านั้น จึงขอเสนอให้ออกพ.ร.ก.อีกฉบับ โดยให้ครอบคลุมในทุกกรณี และอยากให้รัฐบาล กระทรวงคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไปแก้ประกาศที่ยกเว้น ที่เปิดช่องให้ใช้เกินมาตรา 654 ที่ระบุว่า “ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกิน 15% ต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็น 15% ต่อปี” และรับปากได้หรือไม่ว่าจะแก้เพดานเงินกู้ตามมาตรา 654 ลดลงด้วย

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า การแก้ไขกฏหมายฉบับนี้ถือว่า ล่าช้าและต้องรอถึง 95 ปี โดยเฉพาะการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดที่ผิดนัดเพียงงวดเดียว แต่ถูกคิดดอกเบี้ยผิดนัดจากเงินต้นที่เหลือทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นการเอารัดเอาเปรียบลูกหนี้เป็นอย่างมาก พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ความเสียหายก่อนหน้าที่มีการปรับปรุงกฏหมายใครเป็นคนรับผิดชอบ เพราะมีลูกหนี้หลายรายต้องรับภาระดอกเบี้ยพอกพูน หรือกลายเป็นหนี้เสียในที่สุด

ขณะที่นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เรียกร้องให้ประธานสภาฯ นำพ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวส่งศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ตีความว่า การให้อำนาจกระทรวงการคลัง เพื่อขึ้นดอกเบี้ยโดยไม่ผ่านกระทรวงนั้น ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 หรือไม่ ซึ่งกรณีที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังออกพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 7 ปรับเพิ่มดอกเบี้ยได้ ผลกระทบจะตกที่ประชาชน

“พ.ร.ก.ฉบับนี้ เหมือนจะดี แต่ไม่ดี เหมือนน้ำผึ้งอาบยาพิษ เหมือนเหยื่อที่เกี่ยวเบ็ด ปลากินแล้วก็ได้…เป็นการเขียนเช็คเปล่าให้กระทรวงการคลังไปออกอะไรก็ได้ใช่หรือไม่ ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26 หรือไม่”

นายธีรัจชัย กล่าว

นายธีรัจชัย กล่าวว่า กระบวนการออกกฏหมายของรัฐบาลชุดนี้ ใช้วิธีการปิดปากสภาฯ ออกเป็นพ.ร.ก.แล้วแก้ไขรายละเอียดไม่ได้

นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย มองว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ไปผูกพันกับลูกหนี้รายใหญ่ ซึ่งมีอำนาจต่อรองกับสถาบันการเงินสูง และมองว่า กฏหมายฉบับนี้ เป็นการเอื้อให้กับนายทุนที่เป็นลูกหนี้ของธนาคาร ส่งผลให้สถาบันการเงินเกิดความสับสนการคิดอัตราดอกเบี้ยใหม่ให้กับลูกหนี้ ซึ่งสิ่งที่เป็นห่วงคือ ผลกระทบต่อภาคธุรกิจ การลงทุน และการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน และอาจจะนำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาล ทำให้เกิดความวุ่นวายในอนาคต จึงเห็นว่ารัฐบาลควรออก พ.ร.ก.อีก 1 ฉบับ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมจากฉบับเดิมให้เกิดความความชัดเจน

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ที่มาของการออก พ.ร.ก. เพื่อมาแก้ปัญหาวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 ถือเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง เพราะถ้าหากอีก 2 ปีสถานการณ์เริ่มกลับเป็นปกติ จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยตรงนี้หรือไม่

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ได้ชี้แจงการออกพ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 เพิ่มเติมว่า การกำหนดอัตราดอกเบี้ย 3% ได้มีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยยึดหลักความเป็นธรรมกับลูกหนี้ และพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์โควิดยังคงมีการแพร่ระบาดต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนและผู้ประกอบการเดือดร้อน จึงต้องมีผลบังคับใช้ทันที

สำหรับข้อเสนอต่างๆ ทางกระทรวงการคลังจะรับไปพิจารณาเพิ่มเติม ที่จะทำให้การคิดดอกเบี้ยสามารถครอบคลุมทุกภาคส่วนได้

ส่วนการที่กำหนดให้กระทรวงการคลังทบทวนดอกเบี้ยได้ทุก 3 ปี ยืนยันว่ากระทรวงการคลังจะไม่นิ่งเฉย เพราะในกฏหมายจะต้องปฏิบัติ ส่วนอัตราดอกเบี้ยจะเป็นอย่างไร ต้องดูเรื่องความเป็นธรรม และยังไม่ด่วนสรุป เพราะต้องมีคณะกรรมการขึ้นมาดูแลและต้องรับฟังความคิดจากฝ่ายต่างๆ ด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 พ.ค. 64)

Tags: , , , , , , , , , , , , , , ,