สภาฯ โหวตผ่านงบกระทรวงพาณิชย์ ปรับลด 151 ลบ.

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงมติร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ในวาระ 2 มาตรา 19 งบประมาณกระทรวงพาณิชย์ ตามกรรมาธิการเสียงข้างมาก ด้วยคะแนน 250 ต่อ 114 เสียง โดยงดออกเสียง 1

น.ส.ผ่องศรี ธาราภูมิ อดีตส.ส.ลพบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณปี 65 ชี้แจงว่า ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ในวาระ 2 มาตรา 19 กระทรวงพาณิชย์ ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 3,752 ล้านบาทเศษ กมธ.ได้พิจารณาปรับลดไป 151 ล้านบาทเศษ คงเหลือ 3,600 ล้านบาทเศษ ซึ่งกมธ.ได้รวบรวมข้อคิดเห็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถานการณ์ข้าว เอสเอ็มอี ปัจจัยการผลิต ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค เรื่องประกันรายได้ การขยายช่องทางการค้าออนไลน์ และเรื่องอื่นๆ

ทั้งนี้ ทางกมธ.ได้สอบถามเรื่องการประกันรายได้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับคำชี้แจงว่า ในหลักการการประกันรายได้เป็นการสร้างหลักประกันให้กับเกษตรกรให้มีรายได้เพียงพอต่อการลงทุนและไม่บิดเบือนกลไกตลาด ซึ่งเกษตรกรจะได้รับเงินส่วนต่างขึ้นอยู่กับราคาอ้างอิง

ส่วนเรื่องราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ในส่วนของลำไย ทางกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยให้ทางทูตของทั้งสองกระทรวงเจรจากับประเทศจีน สามารถส่งลำไยได้ตามปกติ

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล กมธ.ในสัดส่วนพรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธาน กมธ. อภิปรายว่า กระทรวงพาณิชย์เป็นกระทรวงที่อยู่ในการกำกับดูแลของพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันเลือกตั้งทางพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศนโยบายราคาข้าวหอมมะลิ 1,8000 บาทต่อตัน ข้าวขาว 12,000 บาทต่อตัน แต่วันนี้ราคาข้าวกลับตกต่ำ จึงอยากตั้งคำถามว่าราคาประกันรายได้จะประกันราคาอยู่ที่เท่าไร ซึ่งเม็ดเงินที่ต้องใช้ประกันราคาอาจต้องนำมาจากงบกลาง จึงอยากทราบว่า ได้มีการขอจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแล้วหรือไม่ หรือต้องไปใช้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) มาช่วยจ่าย

ทั้งนี้ เรื่องการช่วยเหลือเกษตรกรไม่ใช่เรื่องที่อ้างเรื่องขาดทุน เหมือนกับที่เคยกล่าวหาโครงการรับจำนำข้าวในสมัยรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งในตอนนั้น มีการประกาศราคาเลยว่า ข้าวหอมมะลิ 20,000 บาทต่อตัน และเงินถึงมือเกษตรกรทุกคนและเงินหมุนเวียนในระบบไม่ลำบากเหมือนกับทุกวันนี้ พอวันนี้ไม่มีโครงการรับจำนำข้าวเหมือนที่เคยทำไว้ เกษตรกรทั้งประเทศลำบากหมด ไม่มีรายได้ เศรษฐกิจซบเซา

ซึ่งหน้าที่รัฐบาลต้องทำให้ประชาชนมีรายได้จับจ่ายใช้สอย และจะได้มีเม็ดเงินภาษีที่จะกลับมาสู่รัฐบาล พอรัฐบาลตัดสินใจผิดไม่ให้มีเงินหมุนเวียน และเก็บภาษีไม่ได้ แต่ต้องกู้เงินมาโปะในเม็ดเงินงบประมาณอีกอีก 7 แสนล้านบาท และหากวิธีการบริหารเงินภาครัฐไม่ถูกยิ่งทำให้ประชาชนลำบาก

นอกจากนี้ ได้สอบเรื่องการแก้ไขปัญหาราคาลำไยตกต่ำ ซึ่งประเทศจีนไม่รับซื้อ ทางกระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมแผนรับมือไว้หรือไม่ ซึ่งกรมการค้าภายใน มีกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเม็ดเงิน 500 ล้านบาท แต่ไม่ได้ช่วยเหลือเกษตรกรแต่อย่างใด จึงขอให้ปรับลดงบตรงส่วนนี้ทั้งหมด และ

“พี่น้องเกษตรกรฝากมาว่า ถ้าหากไม่สนใจใยดี ถึงเวลาก็จะไม่มีคะแนนให้ และถ้าทำไม่เป็น รัฐบาลก็ควรลาออก อย่าอยู่ให้ประชาชนลำบากไปมากกว่านี้”นายวรวัจน์ กล่าว

นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายโดยขอปรับลดงบประมาณ 50 ล้านบาท ที่กระทรวงทำแพลตฟอร์ม e-Commerce ที่เรียกว่า ไทยเทรดดอทคอม มีการตั้งงบฯปี 65 ไว้ 50 ล้านบาท เมื่อเทียบข้อมูลเมื่อปี 64 ใช้งบฯไป 34 ล้านบาท แต่มีผู้เข้าเว็บไซต์ทั้งปี 25,158 ราย ทำให้เห็นว่า งบประมาณที่เอาไปใช้แข่งกับเอกชนเทียบไม่ได้ทั้งผลลัพธ์และความคุ้มค่า

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อภิปรายขอปรับลดงบประมาณ 5% หรือ 150 ล้านบาทเศษ เพราะล้มเหลวในการดูแลราคาสินค้าเกษตรในทุกภาค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องต้นทุนของเกษตรกร ไม่ว่าเป็นปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ราคาเพิ่มขึ้นเท่าตัวภายใน 1 ปี และปัญหาในการเคลื่อนย้ายสินค้าอุปโภค บริโภค ส่งผลต่อการระบายสินค้า ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ไม่มีการเตรียมการล่วงหน้า และเรื่องราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

ทั้งนี้ ในส่วนโครงการประกันราคาสินค้าเกษตรยังไม่สมบูรณ์ และสินค้าเกษตรกลุ่มอื่นๆ ยังไม่มีมาตรการรองรับ หรือมีกระบวนการแก้ไขปัญหาล่วงหน้า

ขณะที่นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ขอปรับลดงบประมาณ 5% ซึ่งจากสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจและการคลังที่งบประมาณมีจำกัด ต้องมีการทบทวนภารกิจที่สมควรดำเนินการอยู่หรือไม่ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์มีทูตพาณิชย์ในต่างประเทศเป็นจำนวนมากและมีค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก จึงอยากให้ทบทวนว่าแต่ละแห่งมีโอกาสต่อประเทศไทยอย่างไร และปัจจุบันมีการใช้ระบบ e-Commerce ระบบดิจิทัลทำให้ไม่จำเป็นต้องมีตัวบุคคลประจำตำแหน่ง

ทั้งนี้ ในงบของสำนักปลัดกระทรวงพาณิชย์ มีการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ เพื่อทำฐานข้อมูล Big Data วงเงิน 61 ล้านบาท ซึ่งมีงบของคุรุภัณฑ์อยู่ถึง 35 ล้านบาท จึงอยากให้มีการทบทวนว่า มีความซ้ำซ้อนของฐานข้อมูลหรือไม่ และควรมีกำหนดเพียงหน่วยงานเดียวในการจัดเก็บฐานข้อมูลทั้งหมด

ทั้งนี้ นายพิสิฐ อยากให้มีการพิจารณาทบทวนงบในส่วนของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนาองค์การมหาชน ที่ใช้งบ 35 ล้านบาท ซึ่งน่าจะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการประชุม ซึ่งปัจจุบันการประชุมสัมมนามีการปรับเปลี่ยนผ่านระบบ Zoom ที่ไม่มีค่าใช้จ่าย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ส.ค. 64)

Tags: , , ,