สศค.เผยดัชนีเชื่อมั่นเศรษฐกิจภูมิภาคพ.ค. ตะวันออก-อีสานมีแนวโน้มดีขึ้น

นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยรายงานดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค (RSI) ประจำเดือนพฤษภาคม 2564 พบว่า ดัชนี RSI เดือนพฤษภาคม 2564 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าในหลายภูมิภาค เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2564

อย่างไรก็ตาม ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยังมีการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 57.2 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในอนาคต โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากมีความต้องการสินค้าเกษตรทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ของสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 55.3 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ดีขึ้นเช่นกัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและภาคการจ้างงาน เนื่องจากเข้าสู่ฤดูเพาะปลูก ประกอบกับการมีนโยบายความช่วยเหลือภาคการเกษตรต่างๆ จากภาครัฐ

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันตก อยู่ที่ 49.7 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะทรงตัว โดยยังมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและภาคการจ้างงาน เนื่องจากคาดว่าเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 คลี่คลาย จะทำให้มีความต้องการสินค้าเกษตรเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนภาคเกษตรอย่างต่อเนื่อง

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 48.4 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจในอนาคตที่ปรับตัวชะลอลง แต่ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตร เนื่องจากจะเข้าสู่ฤดูเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร ประกอบกับการมีมาตรการช่วยเหลือภาคเกษตรจากภาครัฐ ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น อาทิ นโยบายประกันรายได้เกษตรกร เป็นต้น

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคใต้ อยู่ที่ระดับ 48.4 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ชะลอลง แต่ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม โดยความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยางพาราเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังคาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีแนวโน้มที่จะคลี่คลายลงจากจำนวนผู้ฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้น

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคกลาง อยู่ที่ 48.3 แสดงถึงความเชื่อมั่นเศรษฐกิจในอนาคตที่ชะลอลงเช่นกัน แต่ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม โดยคาดว่าเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดดังกล่าวคลี่คลาย จะทำให้มีความต้องการสินค้าเกษตรเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนภาคเกษตรอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมได้ปัจจัยสนับสนุนจากยอดการสั่งซื้อสินค้าเกษตรที่เพิ่มมากขึ้น

ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของกทม. และปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 46.7 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า แต่ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว เนื่องจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 พ.ค. 64)

Tags: , , , , ,