สสจ.ภูเก็ต วาง 5 มาตรการด้านสาธารณสุข จัดสมดุลศก.-สุขภาพ รองรับแซนด์บ็อกซ์

นพ.พิทักษ์พล บุณยมาลิก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 11 กล่าวว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตได้เตรียมวางระบบเพื่อจัดทำ Phuket Sandbox วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ตามที่รัฐบาลกำหนด โดยได้กำหนดมาตรการสาธารณสุข 5 ด้านเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด และผลกระทบต่อสุขภาพของคนภูเก็ต ให้เกิดความสมดุลสามารถขับเคลื่อนด้านสุขภาพและเศรษฐกิจควบคู่กันไป และเพื่อเป็นพื้นที่นำร่อง ในการเปิดประเทศภายใน 120 วัน ตามนโยบายรัฐบาล

มาตรการที่ 1 การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ให้กับประชาชนโดยรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรวัคซีนเพื่อฉีดให้กับประชาชนชาวภูเก็ตที่มีอยู่ประมาณ 540,000 คน รวมถึงประชากรแฝง กลุ่มแรงงานที่อพยพเข้ามาทำงาน ทั้งถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย ขณะนี้ภูเก็ตได้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ทั้งซิโนแวกและแอสตร้าเซนเนก้าไปแล้วประมาณ 65% ของประชากรซึ่งภายในสิ้นเดือนมิถุนายนจะฉีดได้ตามเป้าหมายคือ 70% ซึ่งเป็นเป้าหมายเบื้องต้นก่อนเปิดเมือง

มาตรการที่ 2 การคัดกรองผู้ที่มาจากต่างจังหวัดและพื้นที่เสี่ยงทั้งด่านอากาศ ด่านบก และด่านท่าเรือ โดยกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับฝ่ายความมั่นคง ซึ่งผู้เดินทางเข้า จ.ภูเก็ต จะต้องได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มหรือมีผลตรวจคัดกรองโควิด-19 ในเวลา 72 ชั่วโมง ซึ่งอาจปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของประเทศหรือขึ้นอยู่กับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อป้องกันการเล็ดลอดของเชื้อเข้ามาในจังหวัดภูเก็ต

มาตรการที่ 3 การเฝ้าระวังเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงและชุมชนเสี่ยง โดยเฉพาะชุมชนที่มีผู้ได้รับวัคซีนน้อยกว่าเกณฑ์ เช่น ในโรงเรียน ซึ่ง จ.ภูเก็ต มีโรงเรียนจำนวน 12 โรง มีขนาดตั้งแต่ 500 ถึง 2,000 กว่าคน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้คัดกรองในระบบ Sentinel Surveillance สุ่มตรวจต่อเนื่องอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง สำหรับในโรงงานอุตสาหกรรมได้ฉีดวัคซีนให้กับพนักงานป้องกันการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนใหญ่

มาตรการที่ 4 มีความพร้อมด้านห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนตามเงื่อนไขหรือมีผลตรวจเชื้อโควิด-19 เป็นเวลา 72 ชั่วโมง ที่เดินทางมาถึงประเทศไทยแล้วยังคงต้องตรวจหาเชื้อซ้ำอีก 3 ครั้ง คือวันแรกที่เดินทางมาถึง วันที่ 3 – 5 และวันที่ 13 – 14 ห้องปฏิบัติการสามารถตรวจหาเชื้อได้ประมาณวันละ 1,500 ตัวอย่าง และจะประสานกับเอกชนเพิ่มปริมาณตรวจหาเชื้อ สามารถตรวจได้ถึงวันละ 3,000 คน นอกจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะช่วยสนับสนุนในด้านเทคนิคในการตรวจหาเชื้อกลายพันธุ์ ได้ภายใน 24 ชั่วโมง

มาตรการที่ 5 ด้านการรักษาพยาบาล เตรียมเตียงและห้อง ICU รองรับผู้ป่วยประสิทธิภาพสูงเทียบเท่าโรงพยาบาลขนาดใหญ่จำนวน 24 เตียง และ Cohort ICU เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด 19 ที่มีอาการได้มากกว่า 4,000 ราย และมีความพร้อมในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามได้ภายใน 48 ชั่วโมง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 มิ.ย. 64)

Tags: , , ,