สหภาพฯ ยาสูบร้องคลังทบทวนขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่ ชี้ยิ่งเพิ่มช่องบุหรี่เถื่อน

สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจยาสูบ เดินทางมายื่นหนังสือที่กระทรวงการคลัง กรณีกระแสข่าวการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตบุหรี่ 1 ต.ค. 64 ซึ่งอาจส่งผลให้บุหรี่ขึ้นราคาอีกซองละ 6-8 บาท และมีกลุ่มเอ็นจีโอออกมากดดันให้กระทรวงการคลังและรัฐบาลขึ้นภาษีครั้งนี้ให้สูง ๆ โดยอ้างว่าจะช่วยลดการสูบบุหรี่ และจะไม่เป็นการเพิ่มปัญหาบุหรี่เถื่อนว่า ขอเรียกร้องให้กระทรวงการคลังยึดมั่นในหลักการเดิมที่เคยวางไว้ว่าการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่นี้ จะต้องให้มีความสมดุลทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ 1. รายได้ภาษี 2. ผลกระทบต่อชาวไร่ยาสูบ 3. ปัญหาบุหรี่เถื่อน และ 4. นโยบายดูแลสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การกำหนดนโยบายภาษีควรต้องอยู่ภายใต้การพิจารณาของกระทรวงการคลัง ไม่ใช่กระทรวงสาธารณสุข หรือเอ็นจีโอ จึงจะเกิดความสมดุลของนโยบายได้อย่างแท้จริง

นายสุเทพ ทิมศิลป์ ประธานสหภาพฯ กล่าวว่า อยากเรียกร้องให้กระทรวงการคลังทบทวนการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบ ที่จะมีผลในวันที่ 1 ต.ค.นี้ โดยต้องมีการพิจารณาให้รอบด้าน เพราะมีบทเรียนจากการปรับฐานภาษีบุหรี่เมื่อปี 2560 บุหรี่ถูกปรับราคา 2 ขา ทั้งด้านปริมาณ และมูลค่า และยังมีภาษีอื่น ๆ ตามมาอีก ทำให้ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบไม่เคยออกเรียกร้องจนกระทั้งปี 2560 ที่ได้รับผลกระทบจากการคิดไม่รอบคอบ เพราะฟังเสียงจากด้านสาธารณสุข แต่ไม่ฟังว่าการปรับภาษีบุหรี่ หรือราคาบุหรี่ให้สูงขึ้นแล้วจะลดปริมาณผู้สูบในประเทศลง เพราะราคาบุหรี่แพง แต่จากปี 60-64 พิสูจน์ได้หรือยังว่าสามารถลดปริมาณผู้สูบในประเทศได้จริงตามวัตถุประสงค์หรือไม่ โดยปัจจุบันคนยังสูบบุหรี่เหมือนเดิม และสูบมากกว่าเดิม เพราะมีบุหรี่ลักลอบผิดกฎหมายที่ราคาถูกกว่า 3-4 ซองในราคา 100 บาท

“อาจมีไอ้โม่งอยู่เบื้องหลังปั่นให้ราคาบุหรี่ถูกปรับจากการขึ้นภาษีให้สูง เพื่อมีแรงดึงดูดใจ หรือช่องว่างของราคาเป็นทางที่ขยายตลาดบุหรี่หนีภาษีให้โตขึ้น ผมระบุไม่ได้ว่าเป็นใคร แต่คงไม่ใช่ประชาชนคนธรรมดาที่ทำได้…อยากให้กระทรวงการคลังลองดูให้รอบด้าน บทเรียนเคยมีมาแล้ว ไม่อยากให้กระทรวงการคลังไปฟังเสียงกดดันให้มาก” นายสุเทพกล่าว

ทั้งนี้ พนักงานและลูกจ้างการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) เกือบ 3 พันคน กำลังวิตกกันมากว่ากระทรวงการคลังจะถูกกดดันให้เห็นชอบไปกับแนวคิดการขึ้นภาษีแบบก้าวกระโดดของกลุ่มเอ็นจีโอ ซึ่งจะซ้ำเติมปัญหาที่ ยสท.กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเกิดขึ้นนับตั้งแต่การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตเมื่อปี 60 และส่งผลต่อรายได้ของพนักงานและลูกจ้าง ยสท. และครอบครัวมาต่อเนื่องเป็นเวลา ถึง 4 ปี

ส่วนกรณีที่เอ็นจีโออ้างว่าการขึ้นภาษีไม่ได้ทำให้บุหรี่เถื่อนเพิ่มขึ้น และให้รัฐไปเน้นการปราบปรามนั้น เป็นแนวคิดที่ไม่ได้สะท้อนถึงสภาพความเป็นจริง เพราะการปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายนั้น โดยปกติแล้วไม่มีทางทำได้ทั่วถึงโดยสมบูรณ์อย่างในอุดมคติของเอ็นจีโอ ไม่ใช่แค่กับเรื่องบุหรี่เถื่อนเท่านั้น แต่เป็นปัญหากับอาชญากรรมอื่น ๆ เช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมตอนนี้บุหรี่เถื่อนจึงทะลักเข้ามามาก

สำหรับรายได้ภาษีสรรพสามิตยาสูบของรัฐบาลที่เคยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นก็กลับลดลงทุกปี และยังทำให้เกษตรกรและเครือข่ายผู้ค้าบุหรี่ที่ขายบุหรี่ถูกกฎหมายเกือบ 5 แสนคน ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ต่างได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนตลอดระยะเวลาเกือบ 82 ปีที่ตั้งโรงงานยาสูบ จนมาถึงการเป็นการยาสูบแห่งประเทศไทย ผลกำไรสุทธิ 88% ที่ ยสท. ต้องนำส่งเข้าคลังก็ไม่ได้มีการนำส่งมาตั้งแต่ปี 2560 เท่ากับเม็ดเงินที่ ยสท. นำส่งคลังหายไปถึง 3.4 หมื่นล้านบาท แต่คนได้กลับไปซื้อบุหรี่เถื่อนกันมากขึ้น

สภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน หากบุหรี่ถูกกฎหมายซึ่งส่วนใหญ่ราคา 60 บาท ต้องขึ้นราคาอีก 6-8 บาท ก็ถือว่าเยอะมากแล้ว อุดมคติที่ว่าการขึ้นภาษีสูง ๆ จะช่วยดูแลสุขภาพคนไทย และเพิ่มรายได้ภาษีให้รัฐนั้น ในทางปฏิบัติแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป หากคิดจะขึ้นภาษีให้สูง ๆ โดยไม่ได้ประเมินสภาพความเป็นจริงในประเทศอย่างรอบด้าน ก็เป็นไปได้สูงว่าจะเกิดปัญหาซ้ำรอยปี 2560 ที่ทำให้ ยสท. ต้องแข่งขันอย่างยากลำบาก และยังทำให้บุหรี่ถูกกฎหมายต้องขึ้นราคาอย่างก้าวกระโดด จนบุหรี่เถื่อนเกลื่อนเมือง ซึ่งปัญหาบุหรี่เถื่อนนั้นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกของความเป็นจริงที่นักวิชาการอาจไม่เคยมาสัมผัส แม้ว่า ยสท. จะป้องกันและปราบปรามบุหรี่เถื่อนอย่างแข็งขันและต่อเนื่องด้วยความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่รัฐมาโดยตลอด แต่ต้องยอมรับว่าบุหรี่เถื่อนเป็นปัญหาหนักมาก โดยเฉพาะในภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจยาสูบมายื่นหนังสือที่กระทรวงการคลังแล้ว ได้เดินทางไปยื่นหนังสือที่กรมสรรพสามิตด้วยเช่นกัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.ย. 64)

Tags: , , , , ,