สัมภาษณ์พิเศษ: PJW ถึงยุคเก็บเกี่ยวปั้นกำไรบนนวัตกรรมพลาสติก

แม้ว่าราคาหุ้นของ บมจ.ปัญจวัฒนาพลาสติก (PJW) จะได้รับผลกระทบระยะสั้นจาก “Dilution Effect” ขานรับการเข้ามาเทรดของ PJW-W1 ที่เริ่มซื้อขายวันแรกวันที่ 17 ส.ค.นี้ แต่ด้วยโครงสร้างแต่ละธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะแผนปรับกลยุทธ์ด้วยการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีพลาสติกต่อยอดเข้าสู่กลุ่มผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ทางการแพทย์ (Medical) เป็นส่วนช่วยเสริมศักยภาพทำกำไรกลับเข้าสู่การเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 5 ปีข้างหน้านี้

ผลงานปี 64 หวนเข้าสู่วัฎจักรขาขึ้นรอบใหม่

นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ ประธานกรรมการบริหาร PJW เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า สาเหตุหลักที่กดดันผลประกอบการช่วงปี 61 ประสบกับผลขาดทุนสุทธิ ก่อนจะค่อยๆ เริ่มฟื้นตัวเติบโตอย่างชัดเจนมากขึ้นมาจาก 2 ตัวแปรหลักนั้นคือปัญหาเลื่อนการรับรู้รายได้ของแผนการลงทุนโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ในประเทศจีนที่บริษัทใช้เงินลงทุนช่วงนั้นราว 300-400 ล้านบาทในปี 61 เป็นสัญญากับกลุ่มเอ็กซอน โมบิล คอร์ปอเรชั่น (เอ็กซอนโมบิล) ช่วงนั้นลูกค้าขอเลื่อนส่งมอบสินค้าไปเป็นปลาย 62 จากเดิมต้องเริ่มรับรู้รายได้ไตรมาส 2/62 เป็นเหตุให้บริษัทต้องแบกรับค่าใช้จ่ายต่างๆ มีผลกระทบภาพรวมผลประกอบการโดยรวม

แต่พอเข้าสู่ปี 63 เริ่มมีการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ทำให้ช่วงไตรมาส 1/63 ต้องชะลอการส่งมอบสินค้าอีกเช่นเคย แต่ยังสามารถรับรู้รายได้เข้ามา 9 เดือน ทำให้ผลประกอบการกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น ขณะที่ปี 64 ภาพรวมการรับรู้รายได้เข้าสู่ภาวะปกติแล้วก่อนจะคาดว่าการลงทุนประเทศจีนจะเข้าสู่จุดคุ้มทุนเก็บเกี่ยวผลกำไรได้อย่างเต็มที่ตั้งแต่ปี 65 เป็นต้นไป

เช่นเดียวกับการลงทุนธุรกิจโรงพ่นสี แม้ว่าก่อนหน้านี้จะประสบกับปัญหาขาดทุนเพราะช่วงเวลานั้นยอดประกอบรถยนต์ในไทยมีความต้องการสูงมีเป้าหมายอยู่ที่ 2.3-2.4 ล้านคันต่อปีและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นถึง 2.6 ล้านคัน และเมื่อบริษัทก่อสร้างโรงพ่นสีแล้วเสร็จก็เกิดปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ ทำให้รายได้ไม่ถึงจุดคุ้มทุน

แต่ปัจจุบันโรงพ่นสีได้กลายเป็นหนึ่งในธุรกิจที่สร้างรายได้และกำไรให้กับบริษัท เพราะจากเดิมในช่วงแรกที่เปิดโรงพ่นสีบริษัทยังเป็นเพียง Second tier มีอัตรากำไรต่ำ แต่เมื่อเข้าสู่ปี 2563 โรงพ่นสีของบริษัทก็ขยับขึ้นมาเป็น First tier ได้สำเร็จ ส่งผลให้อัตราทำกำไรดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ปรับเป้ารายได้แตะ 8-10% เชื่อมั่นครึ่งปีหลังโตต่อเนื่อง

นายวิวรรธน์ ยอมรับว่า ภาพรวมธุรกิจปี 64 เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งปีของการเก็บเกี่ยวกำไรจากการลงทุนในช่วงก่อนหน้านี้ ขณะที่ทุกธุรกิจก็เข้าสู่ขาขึ้นอย่างชัดเจน บริษัทปรับเป้ารายได้ปีนี้จากเดิม 5-10% มาเป็น 8-10% ซึ่งปัจจุบันแบ่งเป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มผลิตบรรจุภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่น คิดเป็นสัดส่วน 50% ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ คิดเป็นสัดส่วน 30% ผลิตบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์นมเปรี้ยว คิดเป็นสัดส่วน 15% และอีก 5% เป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มคอนซูมเมอร์โปรดักซ์และเคมีภัณฑ์ สะท้อนจากผลประกอบการไตรมาส 2/64 ยังคงเติบโตได้เป็นอย่างดี

และช่วงที่เหลือของปีนี้ภาพรวมผลประกอบการจะเติบโตได้ต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีสถานการณ์การระบาดรุนแรงของเชื้อโควิด-19 ในประเทศ แต่รายได้จากกลุ่มลูกค้าหลักกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์มีรายได้จากการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศและยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากเงินบาทอ่อนค่าส่งผลบวกต่อความต้องการในตลาดเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ต่อยอดผลิตอุปกรณ์การแพทย์จากพลาสติกหวังเร่งอัตรากำไรสุทธิแตะ 2 หลักภายในปี 66

แม้ว่าอนาคตบริษัทจะเชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมยานยนต์เมืองไทยยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง เป็นส่วนสนับสนุนบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นเติบโตอย่างน้อยอีก 5 ปีข้างหน้า แต่บริษัทไม่ได้ประมาทหากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในอนาคต ล่าสุดต่อยอดพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลาสติกเข้าสู่การผลิตเครื่องมือทางการแพทย์จากพลาสติกใช้แล้วทิ้ง ช่วงแรกเน้นผลิตภัณฑ์เข็มฉีดยา (syringe) หลอดเก็บเลือด (Blood tube) เนื่องจากมีความต้องการสูงมีมูลค่าตลาดรวมในไทยกว่า 5 พันล้านบาท

เป็นที่มาของความร่วมมือกับ บมจ.อินเตอร์ ฟาร์มา (IP ) ผ่านบริษัทย่อย บริษัท พีเจ เมดิคอล (PJM ) บริษัทถือหุ้น 100% เพื่อดำเนินการร่วมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์วัสดุ-อุปกรณ์พลาสติกทางการแพทย์ เบื้องต้นตั้งเป้ายอดขายผลิตภัณฑ์กลุ่ม Medical ในปี 65 ที่ระดับ 300 ล้านบาท และภายใน 3 ปีข้างหน้า (67) ขยับขึ้นมาเป็น 1 พันล้านบาท และตามแผน 5 ปี (69) จะมียอดขายเพิ่มขึ้นแตะระดับ 1.5-2 พันล้านบาท

“บริษัทต้องการขยับตัวเองจากเป็นผู้ผลิต OEM มาเป็น OBM และ ODM หรือเป็นผู้ออกแบบดีไซด์และเป็นเจ้าของแบรนด์ของตัวเองบนเทคโนโลยีพลาสติกเป็นที่มาของแผนขยายลงทุนผลิตเครื่องมือทางการแพทย์จากพลาสติกใช้แล้วทิ้ง เป็นกลุ่มธุรกิจที่สร้างอัตรากำไรให้กับบริษัทขึ้นมาเป็น 2 หลักหรือไม่ต่ำกว่า 10% หากมองทิศทางผลประกอบการระยะยาว ในปี 64 คาดว่ารายได้จะอยู่ที่ 3 พันล้านบาท และปี 65 วางเป้าเติบโตไว้ที่ 3.3 พันล้านบาทยังไม่นับรวมกับธุรกิจใหม่ที่มีอัตรากำไร 2 หลัก

ส่วนปี 66 จะมีความชัดเจนมากขึ้นของสัดส่วนรายได้จากธุรกิจใหม่ ช่วยเสริมความแข็งแกร่งภาพรวมอัตรากำไรสุทธิในปี 66 ให้มีโอกาสขยับขึ้นมาเป็น 2 หลักได้จากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ 6-7% เป็นไปตามเป้าหมายที่บอร์ดบริหารตั้งความหวังเอาไว้”นายวิวรรธน์ กล่าว

ส่วนแผนการ PJW-W1 สัดส่วน 3 หุ้นเดิม : 1 วอร์แรนต์ อายุ 3 ปี ใช้สิทธิครั้งสุดท้าย วันที่ 18 ก.ค.67 อัตราการใช้สิทธิ 1:1:3 บาทนั้น เบื้องต้นมีวัตถุประสงค์คือต้องการใช้เป็นงบตามแผนลงทุนช่วงปี 2566 เนื่องจากช่วงปี 64-65 บริษัทยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากเพราะเป็นช่วงเก็บเกี่ยวผลตอบแทนจากการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา ขณะเดียวกันเป็นการบริหารงบการเงินให้ ROA หรือ Return on Asset มีความแข็งแกร่งควบคู่ไปกับควบคุมหนี้สินต่อทุน หรือ D/E อยู่ระดับต่ำมีความมั่นคงฐานะทางการเงินรองรับกับการขยายกิจการและรับมือวิกฤติที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

สำหรับใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทชุดที่ 1 (PJW-W1) เริ่มซื้อขายในตลาด เอ็ม เอ ไอ เมื่อวันที่ 17 ส.ค.64 หากผู้ถือหุ้นมีการแปลงสภาพหมดตามสิทธิจำนวนไม่เกิน 192 ล้านหน่วย จะส่งผลให้บริษัทฯ ได้รับเงินทั้งหมด 580 ล้านบาทเพิ่มสภาพคล่องและรองรับการขยายการลงทุนใหม่ ๆ โดยเฉพาะขยายไลน์การผลิตเครื่องมือทางการแพทย์จากพลาสติกใช้แล้วทิ้งทยอยลงทุนในระยะเวลา 3 ปีต่อจากนี้งบลงทุนรวมกว่า 700 ล้านบาท เพื่อสร้างการเติบโตรอบใหม่ (New S-curve) ให้กับบริษัทในอนาคตเม็ดเงินที่เหลือจะมาจากเงินทุนหมุนเวียนและสถาบันทางการเงิน

ทั้งนี้ ด้านมุมมองนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” เริ่มต้นกับ บล.เอเชียเวลท์ ประเมินราคาพื้นฐาน PJW ก่อน Dilute เรื่องของการเพิ่มทุนวอแรนต์ราคาอยู่ที่ 7.30 บาท และหลัง Full Dilute คือการนับรวมแปลงหุ้นเพิ่มทุนวอแรนต์จำนวน 191 ล้านหุ้นมารวมกับหุ้นแม่เดิม 574 ล้านหุ้นทั้งหมดรวม 765 ล้านหุ้นจะอยู่ที่ 6.50 บาท

ด้านอีก 3 โบรกเกอร์นั้นคือ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ประเมินราคาก่อน Dilute 7.50 บาท และหลัง Fully Dilute 5.80 บาท และ บล.เกียรตินาคิน ให้ราคา Full Dilute 6.50 บาท สอดคล้องกับบล.หยวนต้า ประเมินราคา Full Dilute ไว้ที่ 6.50 บาท

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ส.ค. 64)

Tags: , , , ,