สัมภาษณ์พิเศษ: SIMAT แกะรอยหุ้นซ่อนมูลค่าเปิดสตอรี่เทิร์นอะราวด์

ปัจจุบันหุ้นของ บมจ.ไซแมท เทคโนโลยี (SIMAT) กำลังกลายเป็นหนึ่งในหุ้นที่ถูกคาดหมายถึงโอกาสผลประกอบการจะพลิกกลับมา “เทิร์นอะราวด์” ได้ดีขึ้นอีกครั้ง หลังจากธุรกิจบริษัทลูกเข้าสู่รอบการเติบโตครั้งใหม่ พร้อมเตรียมก้าวสู่ความท้าทายยกระดับเป็น “โฮลดิ้ง คอมพานี” สร้างรากฐานความมั่นคงสามารถเติบโตได้ในระยะยาว

และด้วยความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้นต่อหุ้น SIMAT จากศักยภาพทำกำไรที่ดีขึ้น ได้ถูกสะท้อนเข้ามายังราคาหุ้น SIMATเพราะหากย้อนหลังช่วงต้นปีหุ้น SIMAT แกว่งตัวแถวๆ บริเวณ 3 บาทกว่าๆ ก่อนจะทะยานขึ้นยืนเหนือ 5 บาทได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้งในช่วงกลางปีนี้

ย้อนรอยงบปี 61 ขาดทุนอ่วมจากบันทึกผลคดี กสท.โทรคมนาคม

นายธีรวุฒิ กานต์นิภากุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายลงทุน SIMAT เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า หากย้อนไปถึงงบการเงินของบริษัทช่วงปี 61 ประสบปัญหาอย่างหนักด้วยการขาดทุนสุทธิเกือบ 500 ล้านบาท มาจากค่าใช้จ่ายหลัก คือ การบันทึกผลกระทบความเสียหายทั้งหมดของคดีความกับ บมจ.กสท.โทรคมนาคม (CAT) ในกรณีที่บริษัทฟ้อง กสท ผิดสัญญาไม่ตรวจรับและไม่ปฏิบัติตามสัญญาเช่าใช้โครงข่ายใยแก้วนำแสงพร้อมอุปกรณ์ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา และ จ.เชียงใหม่ เป็นการเรียกค่าเสียหายจากทุนทรัพย์ 665.62 ล้านบาทแต่ขั้นตอนล่าสุดบริษัทชนะคดีในศาลปกครองชั้นต้นแล้ว และขณะนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุดหากชนะจะมีโอกาสได้รับเงินชดเชยกว่า 400 ล้านบาท

ดังนั้น ค่าใช้จ่ายที่เป็นการบันทึกความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นนั้นจะเป็นแค่ครั้งเดียว แต่หากบริษัทชนะคดีความดังกล่าวในอนาคตก็จะสามารถนำเงินที่ได้รับชดใช้พลิกกลับมาเป็นกระแสเงินสดได้เช่นเดียวกัน หากเป็นกรณีนี้ก็จะเป็นผลบวกกับกระแสเงินสดให้บริษัทได้ในอนาคต

ก้าวผ่านวิกฤติพลิกสู่การเติบโตโดดเด่นจากแรงหนุนบริษัทลูก

นายธีรวุฒิ กล่าวว่า หลังจากบริษัทเผชืญกับปัญหาใหญ่มาแล้ว การดำเนินธุรกิจยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในปีนี้คาดว่าภาพรวมของรายได้อาจจะเติบโตราว 5-6% จากปีที่แล้ว แต่อัตรากำไรจะสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการผลักดันจากบริษัทลูกเป็นหลัก นั่นคือ บมจ.ฮินซิซึ (ประเทศไทย) (HST) ที่ SIMAT ถือหุ้น 70%

HST เป็นผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ลาเบลและซิลค์สกรีน ซึ่งวันนี้ผลประกอบการได้เข้าสู่การเติบโตรอบใหม่ที่โดดเด่นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการเร่งตัวของดีมานด์กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า ,เครื่องใช้สำนักงาน ,และกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และได้ประโยชน์จากการทำสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ทำให้กลุ่มลูกค้าส่งคำสั่งซื้อให้กับ HST เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ความโดดเด่นของ HST คือมีคู่แข่งน้อยรายในอุตสาหกรรมเดียวกัน และแต่ละรายก็เป็นรายเล็กเมื่อเทียบกับความสามารถในการผลิตของ HST ที่มีเครื่องจักรมากกว่า 20 เครื่อง ทำให้รองรับกับออเดอร์ของลูกค้าที่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามต่างชาติ ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ดังได้เป็นปริมาณมาก

และที่สำคัญคือจุดแข็งที่ลอกเลียนแบบได้ยาก คือ เทคโนโลยีการผลิต ทำให้ธุรกิจของ HST มีศักยภาพทำกำไรค่อนข้างสูงสะท้อนจากอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ย 40% ซึ่งเชื่อมั่นว่าในช่วงถัดไปก็จะยังรักษาอัตรากำไรขั้นต้นระดับสูงตามแนวโน้มดีมานด์ที่ส่งสัญญาณเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

อีกส่วนหนึ่ง ธุรกิจที่จะสร้างรายได้ประจำเข้ามาในปีนี้ คือ ธุรกิจไอทีโซลูชั่น (SI) แม้เฟสแรกจะเป็นช่วงเริ่มการก่อสร้างทำให้ได้รับส่วนต่างกำไรน้อย แต่เมื่อเข้าสู่เฟสปัจจุบัน ซึ่งเป็นการให้บริการจัดการและบำรุงรักษาโครงการบริการอินเตอร์เน็ตในพื้นที่ห่างไกล (USO) ในพื้นที่ 7 จังหวัดโซนภาคอีสาน มูลค่ารวมกว่า 1.2 พันล้านบาท ส่งผลให้เกิดเป็นรายได้ประจำต่อเนื่อง 5 ปี โดยเริ่มทยอยรับรู้รายได้เข้ามาตั้งแต่ไตรมาส 2/64 ดังนั้น เชื่อว่าธุรกิจ SI หลังจากนี้จะมีความสามารถอัตราทำกำไรจะใกล้เคียงกับธุรกิจ
HST เช่นกัน

ด้านธุรกิจบรอดแบรนด์อินเตอร์เน็ต แม้ว่าผลการดำเนินงานช่วงที่ผ่านมาจะได้รับผลกระทบจากการแข่งขันรุนแรงของผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรม แต่ล่าสุดบริษัทจัดตั้งทีมใหม่เข้ามาบริหารงาน โดยได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) กับบริษัท เอฟโอที เอ็มเอสโอ จำกัด (FOT) ในเครือเจริญเคเบิลทีวี ซึ่งเป็นเคเบิลทีวีอันดับ 1 ของประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมพัฒนาธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ในโครงการ SINET ในพื้นที่กรุงเทพฯ,เชียงใหม่,นครราชสีมา และขอนแก่น เป็นต้น เชื่อว่าหลังจากนี้น่าจะเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันได้ดีขึ้น ซึ่งจะมีความชัดเจนในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ของปีนี้ เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่จะกลับมาเติบโตเสริมความแข็งแกร่งให้กับบริษัทได้อย่างชัดเจนปีหน้า

“แม้ว่าช่วงนี้มีการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ แต่ก็ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะโครงการ USO มีการใช้งานที่สูงขึ้นขณะที่ธุรกิจ HST ยังมียอดออเดอร์เข้ามาต่อเนื่องเพราะฐานลูกค้าส่วนใหญ่เป็นบริษัทข้ามชาติที่มียอดขายที่เน้นส่งออกเป็นหลัก”

นายธีรวุฒิกล่าว

ปูทางนำบริษัทลูกเข้าตลาดหุ้นยกระดับ SIMAT ขึ้นสู่ “โฮลดิ้ง คอมพานี”

นายธีรวุฒิ กล่าวต่อว่า จากธุรกิจ HST มีแนวโน้มการเติบโตค่อนข้างสูงและมีความต้องการอย่างมาก ทำให้ระยะ 3 ปีข้างหน้า HST มีเป้าหมายเติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 20% ต่อปี และด้วยสัญญาณของกลุ่มลูกค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากผลของการความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ทำให้มีการย้ายฐานการผลิตออกมาจากจีน โดยเฉพาะผู้ประกอบการสหรัฐ ส่วนหนึ่งย้ายเข้ามาในอาเซียน ซึ่งจะส่งผลดีต่อออร์เดอร์ของ HST ด้วย

บริษัทจึงมีแผนธุรกิจในการผลักดัน HST เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนในภายในปีนี้ ส่วนหนึ่งก็เพื่อระดมทุนมาใช้ขยายการลงทุนด้วยการก่อสร้างโรงงานใหม่ ขยายกำลังการผลิต และเข้าซื้อกิจการที่เกี่ยวเนื่องโดยเฉพาะกิจการในต่างประเทศ ซึ่งหลังจากที่นำบริษัทลูกเข้าจดทะเบียนแล้ว ในอนาคต SIMAT ก็ก็มีแผนปรับโครงสร้างบริษัทยกระดับขึ้นเป็น “โฮลดิ้ง คอมพานี” เพื่อสร้างความมั่นคงการเติบโตในระยะยาว

“เราเชื่อมั่นว่าธุรกิจ HST จะมีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดดจากแผนเข้าซื้อกิจการในต่างประเทศจากความโดดเด่นด้านเทคโนโลยีขั้นสูงสามารถต่อยอดขยายฐานลูกค้าได้อีกมาก โดยเฉพาะการแสวงหาโอกาสในต่างประเทศ เบื้องต้นอาจนำร่องในภูมิภาคอาเซียนก่อนเป็นการเข้าไปลงทุนตามกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ที่ย้ายฐานการผลิตไปในประเทศเวียดนาม ,มาเลเซีย เป็นต้น”

นอกจากนี้ บริษัทมีแนวคิดที่จะจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นเป็นครั้งแรกรอบหลายปี แต่ต้องขึ้นอยู่กับแผนการบริหารเงินสดด้วย เช่น กรณีบริษัทได้รับกระแสเงินสดเข้ามาจากการนำธุรกิจ HST เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือมาจากบริษัทชนะคดีที่ฟ้องร้องกับกสทโทรคมนาคมจะทำให้กระแสเงินสดบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและจะสามารถปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ก.ค. 64)

Tags: , , , ,