สัมภาษณ์พเศษ: EP ปั้นกำไรแบบ Snow Ball ไต่สู่โปรเจ็คต์ยักษ์โรงไฟฟ้า 1,500 MW

เจาะลึกกับปัจจัยพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนที่มีประวัติยาวนานกว่า 3 ทศษวรรษหรือก้าวสู่ปีที่ 32 นั้นก็คือ บมจ.อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป (EP) ถึงแม้ว่าช่วงหลายปีที่ผ่านจะปรับกลยุทธ์หันจากธุรกิจหลักคือสิ่งพิมพ์ที่เผชิญกับกระแสดิสรัปชั่นอย่างรุนแรงได้ผันตัวเข้าสู่ธุรกิจผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างเต็มตัว

ขณะที่ภาพรวมผลประกอบการช่วงครึ่งปีแรกอาจยังเติบโตไม่โดดเด่น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขายกิจการโครงการโรงไฟฟ้าภายใต้การบริหารของบริษัทรับรู้ส่วนต่างกำไรค่อนข้างสูง สะท้อนจากงบการเงินของปี 62-63 เติบโตแบบก้าวกระโดด เป็นไปตามเป้าประสงค์ของคณะกรรมการบริหารที่ต้องการสะสมกระแสเงินสดเพื่อนำไปใช้ลงทุนในโครงการที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิม เป็นกลยุทธ์สร้างการเติบโตของกำไรให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในลักษณะ Snow Ball

โมเดลปั้นกำไรโตแบบ Snow Ball บนธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน

นายยุทธ ชินสุภัคกุล ประธานกรรมการบริหาร EP เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า บริษัทก่อตั้งเข้าสู่ปีที่ 32 แต่เมื่อย้อนไปเมื่อ 7-8 ปีที่ผ่านมาบริษัทเริ่มหันเข้าสู่การลงทุนธุรกิจใหม่ ภายหลังลดสัดส่วนของธุรกิจโรงพิมพ์ที่ดำเนินการมาแล้วกว่า 25 ปีลง เพราะเล็งเห็นว่าอุตสาหกรรมเป็นขาลง

ในขณะนั้นมีโอกาสเข้าไปเจรจากับ บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) ที่ยังประกอบธุรกิจเครื่องถ่ายเอกสาร แต่กลายเป็นว่าได้มีโอกาสซื้อใบอนุญาต 2 ใบประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดกำลังผลิต 10 เมกะวัตต์ในจังหวัดกาญจนบุรีและลพบุรี นับเป็นจุดเริ่มต้นการเข้าสู่ธุรกิจผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน เป็นการต่อยอดจากพื้นฐานที่ตนเองเรียนจบด้านวิศวะไฟฟ้าด้วยวุฒิปริญญาโทจากประเทศสหรัฐฯ

หลังจากนั้นมาก็มองหาโอกาสการลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง เพราะไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็น แต่การประกอบธุรกิจดังกล่าวต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ซึ่งบริษัทยังมีขนาดเล็กไม่มีทุนหนาและไม่มีสายการเมืองสนับสนุน แตกต่างกับบริษัทขนาดใหญ่มีความน่าเชื่อถือจากสถาบันการเงินได้รับต้นทุนการเงินต่ำ ดังนั้น โมเดลธุรกิจของบริษัทที่ใช้ในการเติบโตของธุรกิจนี้คือสร้างเสร็จแล้วก็ขายให้กับผู้สนใจเข้ามาลงทุน และเมื่อได้รับกระแสเงินสดแล้วก็นำไปขยายกิจการใหญ่กว่าเดิมหรือเรียกว่าเป็นลักษณะ “Snow Ball”

หากย้อนไปเมื่อปี 62 บริษัทได้ตัดสินใจขายโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศเวียดนามให้กับกลุ่ม บมจ.บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส (BGC) มูลค่า 1.25 พันล้านบาท เพราะผู้ซื้อมีความสนใจและบริษัทได้รับกำไรเหมาะสม และในปี 63 ก็ขายกิจการโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ประเทศญี่ปุ่นก็ได้รับส่วนต่างกำไรผลักดันผลประกอบการ 2 ปีที่ผ่านมาเติบโตโดดเด่น

“บริษัทมีเป้าหมายชัดเจนว่าการลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนแต่ละโครงการต้องได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนอย่างคุ้มค่าคือต้องมี IRR ไม่ต่ำกว่า 12% หรือบางโครงการขึ้นไปถึง 18% เนื่องจากใช้ความเชี่ยวชาญเริ่มต้นก่อสร้างโครงการตั้งแต่ Green Field ควบคุมค่าใช้จ่ายทำให้มีต้นทุนการดำเนินงานที่ต่ำ พอมีผู้สนใจเราก็ขาย แต่พอขายแล้วเราไม่ได้เลิกกิจการ แต่ต้องการนำเงินไปลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ขณะเดียวกันไม่ได้กระทบกับผู้ถือหุ้นไม่ต้องเพิ่มทุน โมเดลลักษณะนี้ก็ถูกสะท้อนออกมาในงบการเงินปี 62-63 ที่ผลกำไรบริษัทเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างมาก”นายยุทธ กล่าว

เล็งปิดดีลซื้อหุ้นเพิ่มใน SSUT-PPTC หนุนผลงานครึ่งปีหลังโตเด่น

แผนธุรกิจในครึ่งปีหลัง นายยุทธ เชื่อมั่นว่าจะพลิกกลับมาเติบโตมากกว่าครึ่งปีแรกอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากบริษัทเข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มใน SSUT ในสัดส่วนอีก 40% คาดว่าจะสามารถปิดดีลได้สำเร็จกลางเดือน ก.ย.นี้ ส่งผลให้บริษัทจะเข้าไปถือหุ้นใน SSUT เป็นจำนวนทั้งสิ้น 80.96% ส่งผลบวกต่อผลประกอบการจากส่วนแบ่งรายได้และกำไรที่เพิ่มขึ้น

SSUT ที่เป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ระบบพลังงานความร้อนร่วม (Cogeneration) กำลังการผลิตสูงสุดรวมประมาณ 240 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย 2 หน่วยการผลิต กำลังการผลิตหน่วยละ 120 เมกะวัตต์ และไอน้ำกำลังการผลิตสูงสุดประมาณ 60 ตันต่อชั่วโมง ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ

และยังเข้าลงทุนเพิ่มใน PPTC รวมถือหุ้นทั้งสิ้น 50.70% ที่เป็นผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดเล็ก SPP ระบบ Cogeneration เช่นกันกำลังการผลิต 120 เมกะวัตต์ และไอน้ำกำลังการผลิตสูงสุดรวมประมาณ 30 ตันต่อชั่วโมง ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร

ขณะที่ช่วงปลายปีนี้คาดว่าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ในประเทศเวียดนาม กำลังการผลิต 160 เมกะวัตต์ ล่าสุดอยู่ระหว่างขั้นตอนก่อสร้าง เบื้องต้นคาดว่าจะรับรู้รายได้จากการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในไตรมาส 4/64

“เชื่อมั่นว่าภาพรวมผลประกอบการช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มเติบโตอย่างนัยสำคัญหากเปรียบเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกที่บริษัทมีรายได้ 589.41 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 44.56 ล้านบาทเท่านั้น ถึงแม้ว่าวันนี้ประเทศเวียดนามกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นอุปสรรคระยะสั้นของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลม แต่บริษัทมีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถ COD ได้ทันตามกำหนดเดิมทั้ง 160 เมกะวัตต์ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้”นายยุทธ กล่าว

ลุยต่อยอดบิ๊กโปรเจ็คต์ใหม่โรงไฟฟ้าเวียดนาม 1,500 MW

นายยุทธ กล่าวถึงภาพรวมรายได้ปี 65 ว่า บริษัทคาดการณ์ว่าจะขึ้นไปแตะ 3 พันล้านบาท แบ่งเป็นธุรกิจธุรกิจโรงไฟฟ้ามีรายได้เฉลี่ย 2 พันล้านบาทต่อปี ส่วนธุรกิจบรรจุภัณฑ์ปีนี้เติบโต 60% หรือปีนี้จะมีรายได้อยู่ที่ 800 ล้านบาท และปี 65 มีรายได้เพิ่มขึ้นไปแตะ 1 พันล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์การระบาดเชื้อโควิด-19 กระตุ้นมีการใช้บรรจุภัณฑ์เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด

ส่วนแผนการขยายการลงทุนโครงการในอนาคต ปัจจุบันบริษัทอยู่ในขั้นตอนการศึกษาการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซในประเทศเวียดนาม กำลังการผลิตรวม 1,500 เมกะวัตต์ เบื้องต้นประเมินมูลค่าโครงการรวมกว่า 7.5 หมื่นล้านบาท เป็นการร่วมมือกับพันธมิตรกลุ่มทุนรายใหญ่ประเทศญี่ปุ่น คาดว่าจะเริ่มเจรจากับทางการเวียดนามได้ช่วงต้นปี 65 ภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 เริ่มผ่อนคลาย โดยใช้ระยะเวลาการก่อสร้างราว 4-5 ปีกว่าจะแล้วเสร็จสามารถ COD อย่างเป็นทางการ

จ่อแยกธุรกิจสิ่งพิมพ์-บรรจุภัณฑ์ปี 66 หวังกดต้นทุนออกหุ้นกู้

ทั้งนี้ บริษัทมีแนวทางแยกธุรกิจสิ่งพิมพ์ออกจาก EP คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นในปี 66 เพื่อต้องการแยกการประกอบธุรกิจให้มีความชัดเจน และยังส่งผลบวกต่อแผนการระดมทุนในอนาคตจากการออกหุ้นกู้ เพราะเมื่อแยกธุรกิจบรรจุภัณฑ์ออกจากโครงสร้างธุรกิจของบริษัทแล้วจะทำให้การจัดอันดับเครดิตเรตติ้งของบริษัทอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น เพราะนับรวมแค่เฉพาะธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพียงอย่างเดียว ทำให้บริษัทมีโอกาสมีต้นทุนดอกเบี้ยจากการออกหุ้นกู้ที่ต่ำลงกว่าในปัจจุบัน

“สอดคล้องกับเจตนาที่เราต้องแยกบริษัทสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ออกจาก EP ในปี 66 เพราะต้องการระดมทุนด้วยต้นทุนทางการเงินให้ต่ำกว่าในปัจุบัน เพราะต้นทุนทางการเงินที่ลดลงเพียง 1% ก็นับเป็นความคุ้มค่าอย่างมากจากการนำไปขยายการลงทุนในโครงการที่มีขนาดใหญ่ขึ้น แม้ว่าโครงการเวียดนาม 1,500 เมกะวัตต์ จะมีมูลค่าโครงการลงทุนสูงถึง 7.5 หมื่นล้านบาท

แต่ความเป็นจริงแล้วบริษัทอาจจะใช้เงินลงทุนเพียง 1.8 พันล้านบาทเท่านั้นภายใต้สมมติฐานบริษัทถือหุ้นอย่างน้อย 50% เพราะมีพันธมิตรกลุ่มทุนประเทศญี่ปุ่นเข้ามาร่วมด้วย ทำให้มีโอกาสได้รับการสนับสนุนสินเชื่อจากสถาบันทางการเงินลักษณะ “Project Finance” มีความเป็นไปได้ว่าจะได้รับการสนับสนุนสินเชื่อสัดส่วนถึง 80% ของมูลค่าโครงการทั้งหมด

ส่วนแผนขยายการลงทุนในประเทศ มองว่าในอนาคตยังคงมองหาโอกาสอย่างต่อเนื่องเพราะเล็งเห็นว่าความต้องการไฟฟ้าในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากการเปลี่ยนแปลงการใช้รถยนต์จากน้ำมันเข้าสู่ยุคของการใช้รถยนต์จากพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น”นายยุทธ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.ย. 64)

Tags: , , , , ,