สุพัฒนพงษ์ ย้ำโมเดล 4D เดินหน้า ศก.ไทยเชื่อประเทศก้าวผ่านกลับมาเข้มแข็งได้

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ปาฐกถาพิเศษ “เปิดแผน..เดินหน้าเศรษฐกิจไทย”ในงานเสวนา Restart เศรษฐกิจไทยฝ่าภัยโควิด ว่า แม้การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/64 จะติดลบ 2.6% แต่ตัวเลขการลงทุนของภาคเอกชนยังเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส ซึ่งเอกชนทราบดีว่าเมื่อมีวัคซีนก็จะทำให้สถานการณ์โควิดก็คลี่คลายได้ และพร้อมจะลงทุน สะท้อนให้เห็นจากคำขอส่งเสริมการลงทุน ดังนั้น จึงเชื่อมั่นนักลงทุนในประเทศไทยถ้ามีโอกาสก็พร้อมลงทุน ขณะที่ การท่องเที่ยวก็จำเป็นต้องปรับตัวทำทุกวิถีทางที่เปิดการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

“เป็นเรื่องการดำเนินการในอนาคตที่จะเดินหน้าประเทศ และนำพาเศรษฐกิจไทยในระยะยาว เพื่อวันที่เราพ้นผ่านจากภาวะโควิดตรงนี้ ซึ่งมีความชัดเจน เวลาอยู่ข้างเรา วัคซีนมาเรื่อยๆ และประเทศไทยจะกลับเข้มแข็งและดียิ่งขึ้นกว่าเดิมได้”

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

สำหรับการเดินหน้าเศรษฐกิจไทยที่เคยพูดไว้เกี่ยวกับโมเดลเศรษฐกิจแบบ 4D คือ 1.Digitalization คือการส่งเสริมเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล 2.Decarbonization หรือการมุ่งเน้นการส่งเสริมการผลิตที่ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และมลภาวะ 3.Decentralization คือโมเดลเศรษฐกิจที่ใช้ประโยชน์จากการกระจายฐานการผลิตของบริษัทต่างๆ และ4.D-riskคือใช้ประโยชน์จากแนวโน้มการลดความเสี่ยงในเรื่องของการซื้อที่อยู่อาศัยในต่างประเทศ

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลทำมาต่อเนื่องตลอด 6 ปีที่ผ่านมา ภายใต้เงินลงทุน 1.2 ล้านล้านบาท ได้สร้างการเชื่อมต่อและโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจเพื่อทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางในหลายด้าน และเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งจะมีการจัดทำปฏิบัติการเชิงรุกเดินหน้าประเทศไทย แสวงหาการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ เน้นเรื่องเทคโนโลยี และลดการใช้แรงงานในอนาคต และลดการพึ่งพาแรงงานจากต่างประเทศ เพราะจากสถานการณ์โควิดทำให้ได้เรียนรู้ว่าแรงงานต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดปัญหาตามมามากขึ้น ทั้งปัญหาสาธารณสุข และการควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งถือเป็นบทเรียนและจะนำไปปรับปรุงในอุตสาหกรรมใหม่ๆที่จะเกิดขึ้น

ทั้งนี้ เรื่อง Decarbonization หรือการมุ่งเน้นการส่งเสริมการผลิตที่ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และมลภาวะ จากการหารือของกลุ่ม G7 ได้มอบหมายให้ญี่ปุ่นสนับสนุนกลุ่มประเทศที่สนใจเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และได้มองประเทศไทยว่ามีศักยภาพ เพราะมีความหลากหลายในด้านเชื้อเพลิงเพียงพอที่จะทำได้ และรัฐบาลได้ดำเนินการตั้งแต่ปีที่ผ่านมาในการประกาศเดินหน้าเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะมีการผลิตแบตเตอรี่และรถยนต์ไฟฟ้า ตามนโยบายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30% ของประเทศใน ค.ศ.2030

และได้กำหนดเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า โรงงานผลิตแบตเตอรี่ และสถานีประจุไฟฟ้า ภายใน 5 ปี หรือใน ค.ศ.2025 ซึ่งอยู่ระหว่างการออกแบบรูปแบบที่จะไปเชิญชวนผู้ผลิตและผู้ประกอบรถยนต์และผู้ผลิตแบตเตอรี่ในระดับสากลมาลงทุนในประเทศให้เสร็จภายในปีนี้และปีหน้าจะมีการเปิดประมูล เพื่อให้ไทยยังเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในภูมิภาคนี้ต่อไป

นอกจากนี้ จะมีปรับแผนการจัดหาพลังงานหมุนเวียน ซึ่งจะมีการจัดซื้อพลังงานสะอาดจากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น และจะเป็นจุดดึงดูดให้เกิดการลงทุนในประเทศไทย ทั้งเทคโนโลยีใหม่ๆ อุตสาหกรรมใหม่ๆ และเรื่องสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ที่จะตามมาควบคู่กับเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งมีนักลงทุนแสดงความสนใจเข้ามามาก และน่าจะเห็นในปีหน้าได้ชัดเจน

ส่วน Digitalization คือการส่งเสริมเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล อุตสาหกรรมดิจิทัลที่จะเข้ามา ทั้งเรื่องของคลาวด์ เอไอ และดาต้าเซ็นเตอร์ ซึ่งอินฟราสตัคเจอร์ของไทย เรื่องของ 5G ไทยมีความพร้อม และบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศไทยก็มีศักยภาพ ซึ่งผู้นำในอุตสาหกรรมด้านดิจิทัลก็มีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งไทยมีความพร้อมด้านดิจิทัลในภูมิภาคนี้เป็นรองเพียงสิงค์โปร์เท่านั้น และจะส่งผลต่อการพัฒนาบุคลากรในด้านดิจิทัลด้วย

สำหรับเรื่อง Decentralization คือโมเดลเศรษฐกิจที่ใช้ประโยชน์จากการกระจายฐานการผลิตของบริษัทต่างๆ ค่อนข้างจะชัดเจนจากคำขอส่งเสริมการลงทุนในปีนี้ ว่ามีผู้ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนในครึ่งปีถึงเดือนมิ.ย. เป็นตัวเลขที่สูงใกล้เคียง หรือ ต่ำกว่าทั้งปีของปี 63 เพียงเล็กน้อย

และเรื่อง D-riskคือใช้ประโยชน์จากแนวโน้มการลดความเสี่ยงในเรื่องของการซื้อที่อยู่อาศัยในต่างประเทศ นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า ประชากรในประเทศต่างๆเริ่มไม่มั่นใจในประเทศของตัวเอง โดยเฉพาะประเทศในแถบตะวันตก โดยเฉพาะเรื่องระบบสาธารณสุข ซึ่งยังเชื่อว่า ไทยยังมีระบบสาธารณสุขเป็นอันดับต้นๆของโลก ที่มีความสะดวกและเข้าถึงได้ง่าย จึงเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างธุรกิจใหม่ ที่เน้นกลุ่มคนที่เข้ามาพักอาศัยในประเทศไทยระยะยาวขึ้น ลดการพึ่งพาการท่องเที่ยวระยะสั้นๆ ซึ่งจะมีการนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมครม.ต่อไป โดยตั้งเป้าคนกลุ่มนี้ 1 ล้านคนและใช้จ่ายคนละ 2 แสนบาทต่อปีได้

ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่มีการพัฒนาและแพร่ระบาดรุนแรงมากขึ้น ในช่วงเดือน เม.ย.64 ซึ่งรัฐบาลและภาคเอกชนพยายามรวบรวมวัคซีนต่างๆจากทุกแหล่ง และเชื่อว่าจะมีวัคซีนทยอยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ประชาชนมีความมั่นใจมากขึ้น แต่รัฐบาลก็เข้าใจความขุ่นเคืองใจของประชาชน และจะพยายามทำเต็มที่

“ประเทศไทยเกือบจะมีวัคซีนเกือบทุกประเภท ทุกแฟลตฟอร์มอยู่แล้ว ขณะนี้มีนับจำนวน 100 ล้านโดสทุกประเภท เชื้อเป็น เชื้อตาย…วันนี้เรารู้เรามีวัคซีน เพราะพอคาดเดาได้ว่า มาเมื่อไหร่ แน่นอนเชื้ออาจแรงขึ้น เราต้องติดอาวุธในส่วนของเราคือการป้องกันตัวเองให้ดีเช่นเดียวกัน เวลาจะอยู่ข้างเรา เพราะวัคซีนจะทยอยมาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นของรัฐบาลที่เป็นทางรัฐ หรือทางเลือกที่เป็นของภาคเอกชนก็ตาม ผมเชื่อว่า เรามีโอกาสดีกว่าเมษายน 63”

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว

ทั้งนี้ นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า มาตรการเยียวยาของภาครัฐในขณะนี้ได้เน้นช่วยเหลือในพื้นที่ 10 จังหวัด ซึ่งเยียวยาไปถึงผู้ประกอบการเพื่อรักษาระดับการจ้างงานด้วย เดินหน้าไปกับโครงการคนละครึ่งและโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ รัฐบาลติดตามสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา และได้เตรียมชุดมาตรการรองรับทั้งเยียวยาและฟื้นฟูเอาไว้ โดยจะช่วยเหลือให้สอดคล้องกับสถานการณ์อย่างรวดเร็ว แต่เราไม่อยากเห็นระบาดใหม่ขึ้นตลอดเวลา สิ่งสำคัญคือ จำเป็นต้องดูแลตัวเอง

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน แม้จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันบ้างในช่วงนี้ แต่รัฐบาลก็ได้ออกมาตรการช่วยเหลือเยียวยาได้เร็วขึ้น รวมถึงได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสินเชื่อสภาพคล่องเสริมจากมาตรการที่รัฐดำเนินการ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.ค. 64)

Tags: , , ,