อนุทินเผยขณะนี้การเจรจาจัดหาวัคซีนไฟเซอร์-จอห์นสันฯ อยู่ในขั้นสุดท้ายแล้ว

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับวัคซีนว่า วัคซีนซิโนแวคที่นำมาใช้แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยให้บริการไปแล้วจำนวนมากได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จากนี้จะมีการนำเข้ามาเพิ่มเติมจากวัคซีนหลักของแอสตร้าเซนเนก้า เพื่อให้ประเทศไทยมีจำนวนวัคซีนเพียงพอต่อความต้องการและบริการประชาชนได้ครอบคลุมมากขัน ขณะที่วัคซีนของไฟเซอร์ และวัคซีนของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน อยู่ระหว่างการหารือในขั้นตอนสุดท้ายแล้ว

“การบริหารจัดการเรื่องวัคซีนขอย้ำว่า แต่ละพื้นที่จะส่งความต้องการเข้ามาให้ทาง ศบค.พิจารณา แล้วคำสั่งจะมาถึงกระทรวงสาธารณสุขให้จัดสรรลงไป กระทรวงฯ มีหน้าที่สนับสนุนงาน ตามนโยบายของ ศบค.” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวว่า การให้บริการวัคซีนสำหรับประชาชนทั่วไปนั้นจะเริ่มตั้งแต่เดือน มิ.ย.เป็นต้นไป ส่วนการบริหารจัดการวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าจะเป็นหน้าที่ของกรมควบคุมโรคกับทางผู้ผลิตต้องหารือให้ได้จุดลงตัวในแต่ละวันในแต่ละสัปดาห์ โดยการให้บริการรายวัน เมื่อเบิกวัคซีนออกมาจากตู้เก็บรักษาแล้วจะต้องให้ฉีดให้หมดในวันนั้น เพราะไม่สามารถนำกลับมาเก็บคืนได้

สำหรับศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อที่เป็นศูนย์ฉีดวัคซีนใหญ่ที่สุดในประเทศขณะนี้ จากการให้บริการตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค.จนถึงวันที่ 2 มิ.ย.64 ได้ฉีดวัคซีนให้กับประชาชน ผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะและในรูปแบบองค์กรแล้วจำนวน 100,747 โดส และในวันนี้ตั้งเป้าการให้บริการไว้ที่ 19,000 ราย

โดยศูนย์ดังกล่าวทางสถาบันโรคผิวหนังแห่งชาติได้ระดมบุคลากรในสังกัดมาให้บริการประชาชนประมาณ 400 คนต่อวัน ทั้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และทีมสนับสนุน เช่น ฝ่ายไอที เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีทีมสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งจากกระทรวงคมนาคม และจิตอาสา คอยให้บริการประชาชนที่ได้รับการลงทะเบียนเข้ามาทุกวันตั้งแต่เวลา 09.00-20.00 น.

“การฉีดวัคซีนโควิด-19 ถือเป็นภารกิจสำคัญของประเทศและกระทรวงสาธารณสุขขณะนี้ เนื่องจากจะไม่มีใครปลอดภัยหากทุกคนยังไม่ปลอดภัย ซึ่งทราบดีว่าบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนต้องทำงานหนัก จึงขอขอบคุณและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกคนที่เสียสละทำงานเพื่อประชาชนให้เกิดความปลอดภัยจากโรคโควิด 19” นายอนุทิน กล่าว

ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.54 ได้มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 3,959,356 โดส แบ่งเป็น เข็มแรก 2,738,289 ราย และเข็มสอง 1,221,067 ราย

ส่วนการดำเนินงานของโรงพยาบาลบุษราคัมที่ตั้งขึ้นเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 อาการปานกลาง (สีเหลือง) ปัจจุบันเปิดให้บริการไปแล้ว 2 เฟส รองรับผู้ป่วยได้กว่า 2,000 เตียง และมีความพร้อมที่จะเปิดเฟส 3-4 เพิ่มเติม เพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคต แต่ตนเองอยากเห็นยอดผู้ติดเชื้อชะลอตัวลง และโรงพยาบาลหยุดให้บริการที่เฟส 2 เท่านั้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 มิ.ย. 64)

Tags: , , ,