อนุฯโครงการขนาดใหญ่ เห็นชอบขับเคลื่อน 3 โครงการพัฒนาแหล่งน้ำพื้นที่อีอีซี

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญว่า ที่ประชุมได้ติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ รวมถึงพิจารณาโครงการที่หน่วยงานเสนอก่อนเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ในต้นเดือน ก.ย.นี้

โดยที่ประชุมเห็นชอบในหลักการ 3 โครงการพัฒนาแหล่งน้ำในเขตโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองกะพง จ.ฉะเชิงเทรา, โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี และโครงการสูบผันน้ำจากคลองสะพานแนวที่ 2 จ.ระยอง ซึ่งแต่ละโครงการมีความพร้อมและตรงตามหลักเกณฑ์ของโครงการสำคัญ รวมทั้งเป็นโครงการที่อยู่ในเป้าหมายที่ช่วยขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำของประเทศในภาพรวมได้อย่างเป็นระบบ

ทั้งนี้ ตนเองได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งรัดดำเนินการตามระเบียบเพื่อให้สามารถดำเนินโครงการได้ตามแผนงานที่กำหนด หากมีปัญหาอุปสรรคเกิดขึ้นขอให้ร่วมกันแก้ไขปัญหาให้เป็นไปในกรอบทิศทางเดียวกัน รวมทั้งให้เร่งสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบความก้าวหน้าของโครงการอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง โดยการเปิดรับฟังความคิดเห็นและสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนก่อนเริ่มดำเนินการก่อสร้างอย่างรอบด้าน ทั้งนี้จะต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรผู้ใช้น้ำ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการจัดการน้ำระดับพื้นที่ที่ครอบคลุมการใช้น้ำในทุกมิติ

สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำคลองกะพง จ.ฉะเชิงเทรา ปัจจุบันออกแบบและดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี (ปี 66-71) ความจุ 27.50 ล้าน ลบ.ม. เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับอุปโภคบริโภคและการเกษตร สามารถส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกได้ 35,000 ไร่ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืดสร้างรายได้เสริมให้กับประชาชนในพื้นที่ นอกจากนั้นยังสามารถจัดสรรน้ำสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ EEC ด้วย แต่เนื่องจากเป็นโครงการที่เชื่อมโยงกับอีก 2 อ่างเก็บน้ำในพื้นที่ ซึ่ง กนช.มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการแล้ว ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยกรอกเคียน และอ่างเก็บน้ำบ้านหนองกระทิง จึงได้กำชับให้กรมชลประทานเสนอแผนจัดสรรน้ำที่มีความชัดเจนและต้องมีความเชื่อมโยงกับทั้ง 2 อ่างฯ พร้อมเร่งรัดการก่อสร้างระบบชลประทานให้สอดคล้องกับแผนงานก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้น้ำอย่างเต็มประสิทธิภาพ

ส่วนโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี ความจุ 99.50 ล้าน ลบ.ม. ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี (ปี 66–71) เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานรวมทั้งสิ้น 87,700 ไร่ และเป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับอุปโภคบริโภคให้กับประชาชนกว่า 4,116 ครัวเรือน รวมทั้งเป็นแหล่งน้ำดิบสำรองสำหรับการอุปโภคและบริโภค การท่องเที่ยว เพื่อรองรับแผนยุทธศาสตร์ EEC เฉลี่ย 70 ล้าน ลบ.ม./ปี โดยให้กรมชลประทานเสนอแผนจัดสรรน้ำที่มีความชัดเจนและต้องมีความเชื่อมโยงทั้ง 4 อ่างฯ ในพื้นที่ และให้เร่งรัดการพัฒนาด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้น้ำมากที่สุด

ขณะที่โครงการสูบผันน้ำจากคลองสะพานแนวที่ 2 จ.ระยอง ระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี (ปี 66-68) สามารถสูบผันน้ำจากคลองสะพาน ซึ่งอยู่ด้านท้ายของอ่างเก็บน้ำประแสร์กลับมาเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างฯ ได้อีก 50 ล้าน ลบ.ม./ปี สำหรับการอุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรม โดยให้กรมชลประทานคำนวณต้นทุนของน้ำที่สูบขึ้นไปที่อ่างฯ ประแสร์และจัดทำสมดุลน้ำเพื่อให้ทราบเงื่อนไขกรณีที่ไม่สามารถสูบน้ำได้ตามแผน เพื่อสร้างความมั่งคงทางด้านน้ำที่จะรองรับความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ EEC ได้อย่างยั่งยืน

ที่ประชุมยังได้รับทราบความก้าวหน้าการขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญต่างๆ อาทิ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 151 โครงการ และโครงการจัดหาแหล่งน้ำรองรับพื้นที่รัศมี 30 กิโลเมตร รอบสนามบินนานาชาติอู่ตะเภา จาก 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล สามารถรองรับน้ำได้เพิ่มขึ้น 12.1916 ล้าน ลบ.ม.

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการของเกณฑ์การปรับปรุงเป้าหมายการขับเคลื่อนโครงการสำคัญในปี 2565 – 2567 ทั้งนี้ ภาพรวมของโครงการสำคัญที่สามารถเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 66 จำนวนทั้งสิ้น 526 โครงการ ปัจจุบันดำเนินการขับเคลื่อนไปแล้ว 128 โครงการ แต่เนื่องจากที่ผ่านมามีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำจำนวนมากที่มีรูปแบบการดำเนินงานที่ไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม ขาดจุดมุ่งเน้นและประเด็นเป้าหมายที่เป็นภาพเดียวกัน สทนช.จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการด้านแผนงานและงบประมาณให้สามารถขับเคลื่อนโครงการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้ตามเป้าหมาย

“รองนายกฯ ได้ให้ความสำคัญในกระบวนการสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต่อโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในระดับพื้นที่ในทุกขั้นตอนอย่างต่อเนื่อง โดยได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานใช้กลไกของคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด คณะกรรมการลุ่มน้ำ รวมทั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ ในการเร่งประชาสัมพันธ์ความก้าวหน้าของโครงการให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถสะท้อนสภาพปัญหา ความต้องการใช้น้ำ และแนวทางจัดการน้ำในพื้นที่ได้อย่างตรงจุดตามบริบทของพื้นที่ ช่วยยกระดับการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และทำให้โครงการต่างๆ เดินหน้าต่อไปตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง”

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ส.ค. 64)

Tags: , , , , ,